BCPG วางเป้ารายได้-EBITDA ปี 67 โต 30% เดินหน้าดันกำลังผลิตแตะ 2 พัน MW ในปี 73

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าภายในปี 73 รายได้ (Net Income) ทะลุ 3,000 ล้านบาท และผลักดันกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปี 67 คาดว่ารายได้และEBITDA จะเติบโตได้ราว 30%

ในปี 67 บริษัทตั้งงบลงทุนที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยกว่า 60% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท จะใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจัดสรรงบประมาณอีกกว่า 40% หรือ ประมาณ 6,000 ล้านสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งทิศทางการดำเนินงาน บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business)

“ในการลงทุนทุกครั้ง บริษัทฯ คำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนที่มีความสมดุลย์ หรือ การ balance portfolio ที่เหมาะสม ในปีหน้าเราเน้นลงทุนใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่บริษัทฯ มีฟุตพริ้นท์อยู่แล้ว และเป็นประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อีกทั้งยังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจที่เป็น New S Curve อาทิ ธุรกิจกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสำหรับโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ”

นายนิวัติ กล่าว

สำหรับธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริษัทได้มีการต่อยอดการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ในประเทศไทย โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว ให้กับสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง-สายจำหน่ายของ กฟภ. ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการในโครงการนำร่องดังกล่าว ในเขตพื้นที่ อำเภอ นาแห้ว จังหวัดเลย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายปีหน้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายตลาดในประเทศไทยหลังจากที่บริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนในบริษัท วีอาร์บีเอ็นเนอยี่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน

*จัดงบ 8 พันลบ.พัฒนาโครงการในพอร์ต

โครงการผลิตไฟฟ้า

– โครงการพลังงานลม “มอนสูน” โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ขนาด 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ ใน สปป. ลาว ขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างทยอยติดตั้งกังหันลม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 133 ต้น ภายในกลางปี 68 และพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้สิ้นปี 68

– โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 469 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 67 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 58 เมกะวัตต์ได้ในปี 68 จากนั้นจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จนครบทั้งหมดภายในปี 69

– โรงไฟฟ้าพลังงานลมนาบาส-2 ขนาดกำลังการผลิต 13.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนเกาะวิซายัส เมืองนาบาส สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 66 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 68 ตามแผน

ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City and Infrastructure)

– โครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling) ในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้ บริษัทฯ ได้เริ่มก่อสร้างระบบผลิตความเย็นฯ ในเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,000 ตันความเย็น (Refrigeration Tons ,RT) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 68 ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการใช้ความเย็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) และขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการวางแผนร่วมกับ PMCU เพื่อขยายไปยังเฟสอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสัญญาบริหารจัดการโครงการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางกับ PMCU กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,000 ตันความเย็นในพื้นที่โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้

– โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองอัจฉริยะ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พัฒนาโครงการฯผ่านการนำระบบ บริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management), ระบบซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกัน (Energy Trading) และ ระบบการบริหารจัดการอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Building Management) โดยบริษัทฯ ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟทอปบนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 160 อาคาร กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 12.86 เมกะวัตต์ เพื่อบริหารจัดการพลังงานที่ผลิตได้ และในปี 67-68 บริษัทฯ จะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติม อีก 2.5 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ พร้อมพัฒนาโซลูชั่นอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายกำลังการผลิตของโซลาร์รูฟทอปเพิ่มขึ้น เพื่อตอบเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างเสถียรภาพของระบบส่งไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยที่เปรียบเทียบได้กับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Distribution Grid) คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม 67

สำหรับปี 66 เป็นปีที่บริษัทฯ ได้ลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกาโดยได้เข้าซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแครอล เคาน์ตี้ เอนเนอร์ยี่ และ เซาท์ ฟิลด์ เอนเนอร์ยี่ ในรัฐโอไฮโอ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ และ ฮามิลตั้น เพทรีออต ในรัฐเพนซิลเวเนีย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วน รวมทั้งสิ้น 857 เมกะวัตต์ ซึ่งการเข้าลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติทุกแห่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าดังกล่าว บริษัทฯ มีการป้องกันความเสี่ยง (hedging) ของรายได้จากการขายไฟฟ้าบางส่วน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านรายได้มากขึ้นอีกด้วย

และล่าสุดบริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยขนาดกำลังการผลิต 12.59 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ภายในไตรมาสแรกของปี 67 นี้

บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 ซึ่งบริษัทฯ ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จากการรับรองขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 65 ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 93 ด้วยการปลูกป่า การใช้พลังงานสีเขียว และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 66)

Tags: , , ,