นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินงาน 5 ปี (ปี 65-69) “BCPG Running at Lightning Speed” ภายใต้งบลงทุน 95,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ารายได้และกำลังการผลิตเติบโต 100% หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,108.4 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันคาดกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) จะโต 35% จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (smart energy solution) อาทิ ธุรกิจผลิต และจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ แบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ฯลฯ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (smart infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัฉริยะ ให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้าน พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
บริษัทจะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย
- การสร้างความสมดุลในการลงทุน (Balance Portfolio) ด้วยการขยายธุรกิจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา
- การสร้างโอกาสเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ (Opportunity)
- ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า (Return on Investment)
- ต้นทุนทางการเงิน อยู่ในระดับต่ำ (Optimized Funding Cost)
สำหรับงบลงทุนดังกล่าวจะแบ่งใช้ในปีนี้ 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม บริเวณแขวงเซกองและอัตตะปือ สปป.ลาว ผ่านบริษัทร่วมทุน อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited) มีกำลังการผลิตรวม 230 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการลงทุน 45% เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่เวียดนาม ซึ่งขณะนี้โครงการยังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66
รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน กำลังการผลิต 469 เมกะวัตต์ วางเป้าจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 66 ที่ 162 เมกะวัตต์ และยังตั้งเป้าพัฒนาสู่ 1,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปี, โครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ในโครงการ T77 และโครงการ Smart University มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังการผลิต 4.2 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เมืองนาบาส (Nabas) บนเกาะวิซายัส (Visayas) ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 5.6 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในฟิลิปปินส์ และอินโดไชนา โดยเฉพาะเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแหล่งเงินลงทุนดังกล่าว จะมาจากเงินในมือที่มีอยู่ 65,000 ล้านบาท รวมกับเม็ดเงินที่จะได้รับจากการออกหุ้นกู้ และเงินกู้ รวมถึงการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย รวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้เพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน
“เรามีโครงการและแผนการลงทุนที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ (65-66) ซึ่งเราได้วางแผนการลงทุนที่ต้องใช้เงินเกือบ 70,000 ล้านบาท ทำให้ตัดสินใจขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ประเทศอินโดนีเซีย แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีกระแสเงินสดมั่นคง แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการใหม่เพื่อสร้างความเติบโต (Growth) ค่อนข้างนานกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งอาจจะตอบสนองกลยุทธ์การขยายการเติบโตเราได้ไม่ทันการณ์ การขายโครงการฯ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการลงทุนของเราให้มากขึ้น ทำให้ขยายการลงทุนใหม่เพื่อหารายได้มาทดแทน Adder ที่กำลังจะหมดลงได้ด้วย ทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้ตามแผนโดยไม่ต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด” นายนิวัติ กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทขายหุ้นใน Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. (SEGHPL) คิดเป็นสัดส่วน 33.33% ให้แก่ Springhead Holdings Pte Ltd. หรือบริษัทย่อยของ Springhead Holdings Pte Ltd. ในราคา 440.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 14,566.9 ล้านบาท จากมูลค่าทางบัญชี 12,295 ล้านบาท ณ สิ้นปี 64 โดยคาดว่าจะรับรู้กำไรเข้ามาภายในไตรมาส 1/65
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 65 บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 25% จากปีก่อนทำได้ 4,231 ล้านบาท จากการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเดือน มี.ค.จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โคมากาเนะ กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าฯ ยาบุกิ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าฯ ชิบะ 2 กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ อยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตฯ
อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้จะมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ไปใช้ในการบริหารจัดการพลังงานที่โครงการนี้อีกด้วย รวมทั้งคาดว่าจะมีโครงการที่สามารถบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเข้ามาเพิ่มเติมในปีนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะส่งผลให้ปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน BCPG มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1,108.4 เมกะวัตต์ โดยมีการ COD ไปแล้ว 345 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 764 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ครบทั้งหมดภายในปี 67
สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาในโครงการที่สำคัญของบริษัทฯ ยังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย และแถบอินโดจีน (Indochina) อาทิ เวียดนาม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสูง ไต้หวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูง เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ
นอกจากนี้ BCPG ยังตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอน โดยตั้งเป้าปลูกป่าในประเทศไทย 1000 ไร่ ใน 2 ปี และทยอยปลูกป่าในประเทศที่มีโครงการตั้งอยู่อีกกว่า 10,000 ไร่ ขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 65)
Tags: BCPG, นิวัติ อดิเรก, บีซีพีจี, หุ้นไทย