น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ รับมือกับภาวะดอกเบี้ยสูงได้ดีเกินคาด เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าสัญญาณชะลอตัวของเงินเฟ้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น เอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป
สำหรับมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนนั้น อยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่า เฟดจะหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดน้อยลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงตามวัฏจักร (Soft Landing) อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบนอกสหรัฐฯ อาทิ ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะการคลังของประเทศแกนหลักในกลุ่มยูโรโซน และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบอย่างมีนัยสำคัญในญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น เรามองว่าค่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อนสิ้นปีนี้ จากการกลับทิศของนโยบายเฟด และแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว
“ประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะผันผวนในกรอบ 34.50-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การแข็งค่าของเงินบาท อาจเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่น กระแสเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความท้าทายจากทิศทางการค้าโลกในระยะถัดไป” น.ส.รุ่ง ระบุ
น.ส.รุ่ง กล่าวด้วยว่า แม้การกลับมาของนักท่องเที่ยวหลังวิกฤติโรคระบาด จะช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำ แต่หากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งฉุดรั้งขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะโน้มต่ำลงในระยะยาว บั่นทอนภูมิคุ้มกันค่าเงินบาทในที่สุด
สำหรับนโยบายการเงินของไทย ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ตลอดปีนี้ โดยการสื่อสารของผู้ดำเนินนโยบายต่อผู้ร่วมตลาด สะท้อนความสำคัญของการดูแลเสถียรภาพ ลดการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะกลางถึงยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: BAY, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, รุ่ง สงวนเรือง, อัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท