BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.00-36.65 รอตัวเลขจีดีพี-เงินเฟ้อสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.47 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.20-36.55 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินยูโรแต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความเห็นเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ตาม ประธานเฟด ระบุว่าการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวและอาจส่งผลให้เฟดมีความจำเป็นน้อยลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับสัญญาณจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในช่วงนี้ โดยในภาพรวมประธานเฟดยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ และเปิดโอกาสสำหรับการที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 4,053 ล้านบาท และ 9,847 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 และราคาค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคล (เงินเฟ้อ PCE) เดือนก.ย.ของสหรัฐฯ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณระมัดระวังมากขึ้นขณะที่บอนด์ยิลด์ระยะ 10 ปีทะยานขึ้นกว่า 50bps นับตั้งแต่การประชุม FOMC เมื่อเดือนก.ย.ทางด้านตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่ามีโอกาสราว 98% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และมีความน่าจะเป็น 25% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.

นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.00% ในการประชุมวันที่ 26 ต.ค. โดยจุดสนใจหลักจะอยู่ที่การประเมินว่าอีซีบีให้ความสำคัญกับภาวะทางการเงินในการตัดสินใจกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดขนาดงบดุลของอีซีบีมากน้อยเพียงใดหลังบอนด์ยิลด์ระยะยาวของยูโรโซนพุ่งขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน

ส่วนประเด็นในประเทศ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการค้าเดือนก.ย.ส่งออกขยายตัวผิดคาด ส่วนทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงขึ้นอยู่กับภาวะตลาดพันธบัตรสหรัฐฯรวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ Digital Wallet เป็นสำคัญ โดยเราคาดว่าเงินบาทอาจแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,