กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าเล็กน้อยที่ 33.37 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.10-33.49 บาท/ดอลลาร์
โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 ปีครั้งใหม่ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่ผันผวน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในช่วงแรก ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตรในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือเร็วกว่านั้น หากการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แม้ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปีก็ตาม โดยท้ายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรย่อตัวลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3,214 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรมูลค่า 8,394 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดโลกจะจับตาข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมของเฟดเมื่อวันที่ 27-28 กรกฎาคม ซึ่งอาจเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับจังหวะเวลา และอัตราการปรับลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและยืดเยื้อในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาวะเช่นนี้ประกอบกับความเสี่ยงที่เฟดอาจจะทวนเข็มนโยบายเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ จะช่วยจำกัดขาลงของเงินดอลลาร์ในระยะนี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นขยายตัว 0.7-1.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.5-2.5% ทางด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะไม่หดตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยความไม่แน่นอนได้แก่การติดเชื้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง มาตรการควบคุมโรคซึ่งกระทบการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า แต่ ธปท.เห็นว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว โดยมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่น่าจะช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากกว่า ส่วนเงินบาทซึ่งอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาค สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า
อนึ่ง กรุงศรีมองว่าแม้ปัจจัยลบถูกสะท้อนอยู่ในค่าเงินบาทมากพอสมควรแล้ว แต่ยอมรับว่าความเปราะบางของ Sentiment และความตึงเครียดของสถานการณ์ยังมีอยู่สูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, เงินบาท