BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 36.20-36.75 จับสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.57 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.55-36.88 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลง หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความเห็นว่า การดูแลภาวะเงินเฟ้อคืบหน้าอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อกลับมามีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่เฟดต้องการได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ที่สามารถยืนยันว่าการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อสะท้อนภาพเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ท่าทีดังกล่าว บ่งชี้ว่าเฟดกำลังเผชิญความเสี่ยง 2 ด้าน ทั้งเงินเฟ้อและการเติบโตในตอนนี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจใกล้เริ่มวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง

นอกจากนี้ ตัวเลขสำคัญหลายรายการออกมาอ่อนแอกว่าคาด โดยดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมิ.ย.สู่จุดต่ำสุดรอบ 4 ปี สนับสนุนมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงในไตรมาส 2 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 845 ล้านบาท และ 10,634 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงนโยบายของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเกินคาด แต่ตัวเลขก่อนหน้าถูกทบทวนลง อีกทั้งอัตราการว่างงานสูงขึ้น และค่าจ้างเพิ่มในอัตราที่ช้าลง เอื้อให้เฟดสามารถลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. หากรายงานเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้

ส่วนค่าเงินปอนด์ ได้แรงหนุนจากเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามกับเงินยูโร ที่เผชิญแรงกดดันหลังเลือกตั้งฝรั่งเศสนำไปสู่รัฐบาลเสียงข้างน้อย

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมิ.ย.ของไทย เพิ่มขึ้น 0.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดและกลับมาอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีกครั้ง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.36%

ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แม้เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ยังไม่ต้องลดดอกเบี้ยทันที เนื่องจากการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายจะต้องมองผลกระทบหลายมิติ โดยเห็นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเหมาะสม แต่พร้อมปรับหากปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 67)

Tags: , , , ,