BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 35.00-35.75 จับตาประชุม กนง.-ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.48 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.03-35.51 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ ขยับขึ้นเล็กน้อย โดยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.ระบุว่า เฟดเห็นร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างระมัดระวังและจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย อีกในกรณีที่กระบวนการควบคุมเงินเฟ้อไม่คืบหน้า ทั้งนี้ ในภาพรวมโทนของการหารือของผู้ดำเนินนโยบายเปลี่ยนไปสู่การให้ความสนใจว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 5.25-5.50% ต่อไปอีกนานเพียงใด ขณะที่สัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างผสมผสานซึ่งทำให้ปัจจัยเสี่ยงมีสองด้านมากขึ้นแทนที่จะเป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อสูงเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องสินเชื่อชะลอตัวลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 6,289 ล้านบาท และ 2,608 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อ PCE เดือนต.ค.ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดจบวงจรการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและจะลดดอกเบี้ยลงในปี 67 รวมถึงคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft Landing อย่างไรก็ตาม ตลาดมองว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าเช่นกัน ทำให้ขาลงของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกอาจเป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนี้ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาจัดในเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของยูโรโซนในระยะยาว อย่างไรก็ดี การที่เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโรน่าจะทำให้กรณีนี้แตกต่างจาก Brexit

ส่วนปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนต.ค.ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งเราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 29 พ.ย. ทางด้านนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้จำเป็นต้องมีใช้มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นประเด็นที่น่าวิตก หลังสภาพัฒน์รายงานจีดีพีไตรมาส 3/66 อ่อนแอเกินคาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,