บมจ.บ้านปู (BANPU) ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิ 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 104 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักจากราคาตลาดของก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้ค่าภาคหลวง รวมทั้งขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงินลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 1,088 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38,810 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,924 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 43.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,552 ล้านบาท)
ในช่วงที่ผ่านมาแม้ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างกระแส เงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero เต็มพิกัด โดยมีโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมดำเนินการในปีนี้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยได้เริ่มส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยแล้ว
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า “ในไตรมาส 1/67 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม ยกระดับ การดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจใน 9 ประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานและผลิตพลังงาน มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนเพื่อตอบสนองต่อภาวะราคาพลังงานที่ผันผวน สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานมีความคืบหน้าของโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ได้เริ่มส่งมอบแบตเตอรี่ชุดแรกแล้ว นอกจากนั้น เรายังมุ่งบริหารพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องไปกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ในไตรมาส 1 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจเหมือง บริษัทฯ เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการควบคุมต้นทุนการผลิต การเสริมประสิทธิภาพในการผลิตและการขนส่ง ที่ช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรและลดสิ่งเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ได้คุณภาพของสินค้าตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ยังคงสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทฯ ยังคงใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวน ในส่วนโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ใน Scope 1 และ 2 ในปี 2568 โครงการแรก “Barnett Zero” ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงการที่สอง “Cotton Cove” ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการภายในปี 2567 นี้ โดยแต่ละโครงการมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 210,000 และ 45,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามลำดับ
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานตามเป้าและ คงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของความต้องการการใช้ไฟฟ้าในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในช่วงที่สภาพภูมิอากาศมีความผันผวน อีกทั้งยังมีความเติบโตของการใช้ AI และ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศต่าง ๆ สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังคงรายงานผลการดำเนินงานที่ดี สร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ แม้ในไตรมาสนี้จะเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยการมุ่งขยายฐานลูกค้าและการลงทุนร่วมกับพันธมิตรใหม่ ๆ ในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บ้านปู เน็กซ์ และ เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยมากกว่า 20,000 ชุด โดยมีเป้าหมายการผลิตรวม 60,000 ชุดต่อปี พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งโรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกักเก็บพลังงาน เซลล์แบตเตอรี่ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในขณะที่โรงงานประกอบแบตเตอรี่ดีพี เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบ้านปู เน็กซ์ และดูราเพาเวอร์ สามารถส่งมอบแบตเตอรี่ชุดแรกให้กับเชิดชัยมอเตอร์เซลส์เพื่อนำไปใช้กับรถบัสไฟฟ้าแล้วเช่นกัน โดยมีเป้ากำลังการผลิตรวมที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง
นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ยังมีการเปิดตัวโครงการ ‘Infinite Cafe Powered by Banpu NEXT’ เฟสที่สอง ที่จามจุรีสแควร์ ในรูปแบบป๊อปอัพคาเฟ่ที่มีระบบโซลาร์รูฟท๊อปผลิตไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าในตัว ซึ่งเป็นการนำเสนอโซลูชันพลังงานสะอาดที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน เพื่อขยายสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการต่าง ๆ ในส่วนโครงการบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี คาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาส 4 ปีนี้
“บ้านปูยังคงสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงาน โดยมุ่งสานต่อโร้ดแม็พภารกิจการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Transition) สิ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือการสร้างกระแสเงินสดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จากการดำเนินงานที่เต็มประสิทธิภาพของสินทรัพย์ต่าง ๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมการต่อยอดโอกาสเพิ่มรายได้จากการเลือกลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูง โดยผสานความแข็งแกร่งทั้งในธุรกิจที่มีอยู่เดิมและธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตไม่ว่าจะภาคพลังงานหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็เร่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินธุรกิจเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 67)