นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ในช่วง 25 ปีของการดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้ได้กว่า 1.6 แสนราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นกว่า 4.8 แสนล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้วกว่า 53,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 1.23 แสนล้านบาท นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความยั่งยืนได้ต่อไป
ทั้งนี้ BAM มีนโยบายที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ทุกรายเข้ามาเจราจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อหาข้อยุติร่วมกันด้วนเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การปรับลดหนี้ การโอนตีทรัพย์ชำระหนี้ การให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพ์หลักประกันได้ เป็นต้นเช่น “โครงการสุขใจได้บ้านคืน” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ BAM ที่ต้องการคืนทรัพย์หลักประกันทั้งที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้แก่ลูกหนี้
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 80% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ผ้อนชำระไม่เกิน 25 ปี รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 พ.ย.67 สำหรับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ และยังมีการผ่อนชำระอยู่
กางโรดแมปสู่ DIGITAL ENTERPRISE เต็มสูบ
ด้านนายธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM ได้วางแนวทางขององค์กรเพื่อให้ทันต่อธุรกิจในยุค 4.0 โดยมีเป้าหมาย Transformation 3 ส่วน คือ
1.Transformation for People มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BAM ได้รับประสบการณ์ที่ดี เช่น การตั้งเป้าหมายให้ลูกค้าได้รับแผนประนอมหนี้ที่ตรงกับความต้องการและเงื่อนไขของตนเองให้เร็วที่สุด รวมทั้งการจัดทำระบบ BAM Choice ซึ่งเป็น mobile application ที่ลูกหนี้สามารถเห็นแผนประนอมหนี้ที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงการขอเจรจาปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ทางออนไลน์ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน BAM เตรียมนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินกำลังความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้อีกด้วย
2.Tranformation for Growth มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มยอดผลเรียกเก็บและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยทำ Digitalization Channel ในการสื่อสารกับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ BAM ทุกช่องทางได้รับประสบการณ์ที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ ยังมีการนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และช่วยการตัดสินใจเพื่อให้การบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.Tranformation for Efficiency ได้มีการทำระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้กระบวนการในการติดตามและแก้ไขหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดหาเครื่องมือทางด้านดิจิทัล ที่ช่วยให้พนักงานสามารถใช้ระบบสารสนเทศระดับองค์กร เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงานและการตัดสินใจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 67)
Tags: BAM, บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์, บัณฑิต อนันตมงคล, หุ้นไทย