นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า บริษัทยังคงเร่งเครื่องในส่วนของผลเรียกเก็บหนี้รวมช่วงโค้งสุดท้ายของปี 66 เพื่อให้ผลเรียกเก็บเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.78 หมื่นล้านบาท หลังจาก 9 เดือนที่ผ่านมาทำได้ 1.12 หมื่นล้านบาท โดยยอมรับว่าในไตรมาส 3/66 บริษัทเผชิญกับความท้าทายในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงค่อนข้างมากจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้ยอดเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ NPL ชะลอลง
ขณะที่การขายทรัพย์ NPA ในช่วงไตรมาส 3/66 ก็ชะลอลงไปมากเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าที่มีความสนใจซื้อทรัพย์ NPA จาก BAM ได้เลื่อนหรือชะลอการซื้อออกไปจากสภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร กระทบต่อภาพรวมของผลเรียกเก็บรวมในไตรมาส 3/66 และสวนทางช่วงปกติที่ไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีผลเรียกเก็บสูงที่สุดของปี ดังนั้นในไตรมาส 4/66 บริษัทจะเร่งเพิ่มยอดเรียกเก็บให้ได้ 5.38 พันล้านบาทเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนทิศทางการเรียกเก็บหนี้รวมในปี 67 บริษัทยังมองว่าเป้าหมายจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 66 เพราะเมื่อมองดูภาวะในปัจจุบันที่ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก ประกอบกับ ความผันผวนของเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้ออ่อนตัว และภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ยังมีแรงกดดันทั้งในส่วนการเรียกเก็บหนี้ NPL และการขายทรัพย์ NPA ที่ยังมีความท้าทาย
“BAM ยังมุ่งมั่นในปี 67 ที่เราหวังการ Turnaround ธุรกิจ โดยที่ในปีหน้าจะครบรอบ 25 ปีของ BAM ซึ่งเราจะมีการให้สิทธิพิเศษเฉพาะลูกหนี้ในแต่ละรายที่จะช่วยเร่งผลเรียกเก็บได้มากขึ้น รวมถึงการขาย NPA ที่ยังคงเน้นการทำ Marketing และกลยุทธ์ Pricing ต่อเนื่อง รวมถึงการนำ Digital มาเป็น Backbone ในการบริหารจัดการ NPL และ NPA” นายรฐนนท์ กล่าว
สำหรับการเจรจากับพันธมิตรในความร่วมมือกันในเรื่องจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ ยังคงมีการเจรจาต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆออกมาอย่างชัดเจน
นางสาววนัฌชา ศรีโพธิ์ทองนาค นักลงทุนสัมพันธ์ BAM กล่าวว่า ในปี 67 คาดว่าจะใช้งบลงทุนในการซื้อหนี้ NPL และทรัพย์ NPA เข้ามา 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จากการที่เห็นสัญญาณของสถาบันการเงินต่างๆได้มีการเริ่มออกมาเสนอขายหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/66 นี้ที่จะมีการเปิดประมูลหนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก และเห็นการเปิดประมูลขายหนี้ในจำนวนมากต่อเนื่องในปี 67 หลังจากที่ 9 เดือนที่ผ่านมา BAM ได้เข้าซื้อมูลหนี้ไปแล้วรวม 4.21 หมื่นล้านบาท จากมูลหนี้ของตลาดที่ออกมาเสนอขายในช่วง 9 เดือนที่ 6.95 หมื่นล้านบาท โดยที่ใช้เงินลงทุนไปราว 1.2 หมื่นล้านบา และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้จะใช้เงินลงทุนซื้อหนี้ไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับต่อการทำธุรกิจในปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 66)
Tags: BAM, บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์, รฐนนท์ ฟูเกียรติ