นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บริษัทไม่ได้หวังที่รัฐบาลจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แล้ว หลังจากเดินเรื่องในนามสมาคมสายการบินในประเทศที่ตนเป็นนายกสมาคมฯ ซึ่งเมื่อกลางปีขอลดวงเงินกู้เหลือ 5 พันล้านบาทจากเดิม 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่วนที่ธนาคารส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ที่ปล่อยเงินกู้ให้บางสายการบินก็เป็นการปล่อยสินเชื่อทั่วไป ไม่ใช่เงื่อนไขผ่อนปรน
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บริษัทยังมีวงเงินกู้เดิมจากธนาคารที่ยังเหลืออยู่พอสมควร และแบงก์ก็พร้อมสนับสนุนการให้วงเงินสินเชื่อหลังจากที่เห็นแนวโน้มธุรกิจการบินดีขึ้นจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนอยู่ในพอร์ตที่พร้อมขายออกมาในตลาดหลักทรัพย์เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท
ในช่วงเกิดการระบาดโควิดบริษัทได้บริการจัดการโดยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ลดส่งเงินต้น และเลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ การบริหารจัดการฝูงบิน และปรับลดจำนวนพนักงาน
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า สายการบินไม่สามารถพึ่งพาผู้โดยสารในประเทศที่มีสัดส่วน 60-70% ได้อย่างเดียว ซึ่งต่อมารัฐบาลคลายล็อกดาวน์และได้เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามา เชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าออกประเทศโดยไม่ต้องกักตัวทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทางเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนปรับลดฝูงบิน จากปัจจุบันมี 38 ลำ โดยจะนำเครื่องบินใบพัด ATR72-500 จำนวน 2 ลำ และคืนเครื่องบินเช่าแอร์บัส A319 จำนวน 1 ลำ ทำให้สิ้นปี 64 มีเครื่องบิน 35 ลำ และในปี 65 จะคืนเครื่องแอรบัส A320 ซึ่งเครื่องบินเช่าที่ครบตามสัญญา จำนวน 5 ลำ จะทำให้สิ้นปี 66 มีเครื่องบิน 30 ลำ ทั้งนี้การปรับลดเครื่องบินช่วยให้ลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก
ส่วนแผนการดำเนินงานในเดือน ธ.ค.นี้ BA จะบินเพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พนมเปญ , กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา และ สมุย-อู่ตะเภา ในช่วงเม.ย.- ต.ค.65 จะเปิดบินเพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ สมุย-ฮ่องกง, สมุย-เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ-กระบี่ ซึ่งจะเป็นเส้นทางรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในปลายเดือน ต.ค. 65 จะเปิดบินเพิ่มอีก 8 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-ภูเก็ต , สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ- หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ -ย่างกุ้ง,เชียงใหม่-กระบี่, กรุงเทพฯ-ดานัง, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ และกรุงเทพฯ-เสียมเรียบ
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าภาพรวมในปี 64 มีรายได้ 757 ล้านบาท จำนวนผู้โดยสาร 4 แสนคน อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร 62% ซึ่งขณะนี้ยอดจองตั๋วล่วงหน้าในเดือน ธ.ค.ได้รับการตอบรับดีกว่า 30% แล้ว และในปี 65 เชื่อว่าธุรกิจการบินจะค่อยๆกลับราว 30-50% ของปี 62 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด จากนั้นในปี 66 คาดกลับมา 60-80% และในปี 67 น่าจะกลับมาใกล้เคียงปี 62
“ผู้โดยสารในงวด 9 เดือนปีนี้ มี 2.72 แสนคน น้อยกว่างวด 9 เดือนปีก่อนที่มี 1.5 ล้านคน โดยมี Load Factor 55.2% แต่ในไตรมาส 3/64 Load Factor เหลือ 35.4% เพราะหยุดบินไปในเดือน ก.ค.-ส.ค.ปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุด”
นายพุฒิพงศ์ กล่าว
นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมในปี 65 น่าจะค่อยๆกลับมา จากที่มีการสอบถามจากชาวต่างประเทศพบว่าประเทศไทยยังได้รับคะแนนนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากจะเดินทางมาเที่ยว และเส้นทางพนมเปญที่จะกลับมาเปิดบินในเดือน ธ.ค.64 ได้รับการตอบรับดี มียอดจองแล้ว 30-40% อย่างไรก็ตาม ประเด็นสงครามราคาของธุรกิจสายการบินยังยากที่หลีกเลี่ยง เพราะทุกวันนี้ดีมานด์ยังน้อยกว่าซัพพลาย
นายอนวัช กล่าวถึงเป้าหมายในปี 65 ว่า บริษัทคาดว่ารายได้จะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท ตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมี 1.5-2.0 ล้านคน และ Load Factor กว่า 60% จากเที่ยวบินกว่า 2 หมื่นเที่ยว มั่นใจว่าผลประกอบการในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้แน่นอน และคาดว่าในปี 66 น่าจะพลิกกลับมามีกำไร
“วันนี้สถานการณ์ระบาดโควิดของไทยดีขึ้น โดยมียอดผู้ฉีดเข็ม 1 แล้ว 63%ของประชากร ฉีด 2 เข็มสัดส่วน 51% เชื่อว่าตั้งเป้า 70% ในสิ้นปนี้น่าจะไม่พลาดเป้า ทำให้ทิศทางค่อนข้างชัดเจน ยอดติดเชื้อโควิดแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าประมาณ 2 ปี ก็น่าจะกลับมาlevet ปกติ”
นายอนวัช กล่าว
นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนพนักงานที่บริษัทได้ปรับลดลงไปประมาณ 30% เหลือ 2 พันกว่าคนจาก 3 พันกว่าคน ทั้งมาจากโครงการร่วมใจจาก ลาออกเอง และครบสัญญาว่าจ้าง ซึ่งจำนวนขณะนี้ถือว่าเป็นไปตามปริมาณงาน และในปี 65 ก็จะมีการปรับลดพนักงานลงอีก แต่ก็จะไม่มากเหมือนปี 63-64
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ภายใต้การบริหารงานบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ยังดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งได้ยื่น Master Plan ตามกำหนดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเอกสาร และสัญญาต่างๆ และดำเนินการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 64)
Tags: BA, EXIM BANK, การบินกรุงเทพ, ซอฟท์โลน, บางกอกแอร์เวย์ส, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, สินเชื่อ, อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา