ASPS เสี่ยงปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ติดลบ-หั่นกำไร บจ.อีกรอบรับผลล็อกดาวน์รอบใหม่

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค.64 ยังคงได้รับความกังวลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เร่งตัวขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มหลายจังหวัดมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว หวังพึ่งได้เพียงภาคส่งออกเท่านั้น ส่งผลให้เกิด Downside ทั้งประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ แนะนำลดน้ำหนักหุ้นไทยลง 5% เหลือ 25% (Underweight)

“มุมมอง ASPS ประเมินว่าการ Lockdown จะส่งผลให้ GDP ไทยชะลอตัวลงในงวดไตรมาส 2-3/64 โดยคาดจะหดตัวทั้ง %qoq และ %yoy หากยืดเยื้อไปถึงปลายปี มีโอกาสที่ไตรมาส 4 อาจชะลอตัวอีก เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยรวมมีโอกาสสูงที่ GDP Growth ทั้งปี 64 อาจจะพลิกกลับมาติดลบได้” นายเทิดศักดิ์กล่าว

จากมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ส่งผลให้ ASPS คาดว่าทางภาครัฐยังจำเป็นต้องออกมาตรการทางการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเรารักกัน เราชนะ หรือจากข้อเสนอของภาคเอกชนที่ในช่วงเดือน ก.ค.เสนอให้นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง ด้านนโยบายการเงินคาดว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0.5% ต่อไปจนถึงช่วงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเทิดศักดิ์ กล่าวถึงการลงทุนต่างประเทศว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในประเทศพัฒนาแล้วมีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรที่สูง จึงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรที่ต่ำ ฝ่ายวิจัยฯ คงน้ำหนักหุ้นต่างประเทศไว้ที่ 35% ของพอร์ตการลงทุน (Overweight) กลยุทธ์เน้นหุ้นพื้นฐานดีในแถบประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง Facebook Inc (FB US) และ United Health (UNH US)

นายเทิดศักดิ์ กล่าวถึงตลาดตราสารหนี้ว่า นักลงทุนยังอยู่ในช่วง Wait & See เพื่อรอดูการมุมมองการปรับ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงแนะนำยังคงน้ำหนักตราสารหนี้ไว้ 15% ของพอร์ตรวม (Underweight) เน้นตราสารหนี้ที่ มี Rating ระดับ Investment Grade ขึ้นไป Top picks คือ WHAUP267A

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน ส.ค. มีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามองไม่ว่าจะเป็น

1) อาจเห็นการส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ Fed จากการประชุมช่วงกลางเดือน หรือการประชุม Jackson Hole ช่วงปลายเดือน กดดันให้นักลงทุนน่าจะอยู่ในสภาวะ Wait and See เพื่อรอการส่งสัญญาณของเฟดที่ชัดเจนขึ้น

2) บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นฝั่งเอเชียที่ยังคงผันผวนจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ (Policy Uncertainty Risk) ของจีน ที่เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลในหลายธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ป้องกันการผูกขาด และสร้างความเสมอภาค ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนอาจชะลอการลงทุน เพื่อรอประเมินสถารการณ์ได้

3) โควิดสายพันธเดลต้าแพร่ระบาดหนักในไทย โดยช่วงปลายเดือน ก.ค. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 1.7 หมื่นราย/วัน และถ้าเทียบต่อสัดส่วนประชากร ยังสูงสุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้าง Downside ทางเศรษฐกิจทั้งในมุมมองสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในไทยที่เคยคาดว่า GDP ไทยปี 64 จะขยายตัวเฉลี่ยราว 2% เริ่มทยอยปรับลดประมาณการลงมาเหลือเฉลี่ยราว 1% รวมถึงมุมมองต่างชาติอย่าง IMF ก็ปรับลด GDP64F ไทยลงเช่นกัน ล่าสุดเหลือ 2.1%

โดยทั้ง 3 ปัจจัยที่มารวมกันในเดือน ส.ค. ล้วนกดดัน Fund Flow ให้มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หรือขายสุทธิทุกเดือนในปีนี้ ซึ่งในเดือน ส.ค. ยังเป็นฤดูกาลรายงานงบไตรมาส 2/64 เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินจากข้อมูลการทำ Earning Preview 48 บริษัท พบว่า กำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้นถึง 67%yoy แต่ลดลง -5%qoq แสดงว่า มีโอกาสที่ผลประกอบการยังดี แต่น่าจะผ่านจุดสูงสุดในงวดไตรมาส 1/64 ไปแล้ว

“แม้ส่วนใหญ่บริษัททำผลประกอบการงวดไตรมาส 2/64 ดี และเติบโต yoy แต่นักลงทุนจะต้องระวังกับดักงบไตรมาส 2/64 เนื่องจากช่วงเดือน ส.ค. น่าจะมีการทยอยปรับลดประมาณการลงหลายบริษัท จากความเสี่ยงโควิด-19 กลับมาระบาดแรงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มท่องเที่ยว, ขนส่ง, รับเหมาฯ, บันเทิง และศูนย์การค้า และที่สำคัญคือ มุมมองของ Bloomberg Consensus ยังแทบไม่มีการใส่ผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่เข้าไปเลย”

นายเทิดศักดิ์กล่าว

จากความเสี่ยงต่าง ๆ ในเดือนส.ค.กดดันให้การลงทุนจำเป็นต้องกระชับพอร์ต แนะนำถือเงินสดราว 20-30% ส่วนกลยุทธ์การลงทุนแนะนำเลือกหุ้นงบ 2Q64 เติบโตดี พร้อมกับมีปันผลสูง (MCS, TVO, SAPPE, SAT) หรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ค่อนข้างจำกัด (GPSC, JMART, DOHOME)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,