APO ปิดเทรดวันแรกที่ 2.12 บาท เพิ่มขึ้น 1.13 บาท (+114.14%) จากราคา IPO 0.99 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,565.43 ล้านบาท จากราคาเปิด 1.74 บาท ราคาสูงสุด 2.86 บาท ราคาต่ำสุด 1.74 บาท ขณะที่ราคาซีลลิ่งวันนี้อยู่ที่ 2.96 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (APO) ลักษณะธุรกิจ : สกัดน้ำมันปาล์มดิบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลักจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ เช่น กะลาปาล์ม น้ำมันกรดสูง รวมถึงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยบริษัทตั้งอยู่ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตปาล์มสดหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย ขณะที่รายได้หลักมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
ความเห็นของเรา : บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลผลิตผ่านโครงการ Asian Plus+
ธุรกิจที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มมีอยู่ราว 100 กว่าแห่งในประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปริมาณและราคามีความผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งสินค้าตั้งต้นมีลักษณะเหมือนกัน คือ ทะลายปาล์มสด แต่แตกต่างกันในด้านของคุณภาพ ทำให้การแข่งขันในธุรกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการรับซื้อทะลายปาล์มสด ขณะที่บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพของทะลายปาล์มสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบและต้นทุนหลักในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์หลักจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ จึงจัดตั้งโครงการ Asian Plus+ ที่มีการให้ความรู้และรับซื้อทะลายปาล์มสดจากเกษตรกรเพื่อให้ได้ทะลายปาล์มที่มีคุณภาพ สามารถนำมาสกัดได้อัตราการสกัดน้ำมัน (OER) ที่สูง นอกจากนี้การควบคุมมาตรฐานในการผลิตของบริษัทไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน ยังสะท้อนถึงคุณภาพน้ำมันปาล์มที่ดี
คาดราคาน้ำมันปาล์มลดลงในปี 67 รายได้หลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งผันผวนตามราคาและปริมาณของน้ำมันปาล์ม โดยปี 66 รายได้ลดลง จากราคาน้ำมันปาล์มของโลกและอุปสงค์ที่ปรับตัวลง หลังจากประเทศผู้บริโภครายใหญ่อย่างอินเดียไม่ได้มีการกักตุนเหมือนในช่วงโควิด รวมทั้งอุปทานน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น หลังอินโดนีเซียและมาเลเซียกลับมาผลิตได้มากขึ้น จึงมองว่าในช่วงปี 67 แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มโลกจะลดลงจาก 2 เหตุผลดังกล่าว อย่างไรก็ตามแนวโน้มอุปสงค์ยังเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น
ผลกระทบจากเอลนีโญที่คลี่คลายลดแรงกดดันด้านต้นทุน โดยวัตถุดิบหลักในการผลิต คือ ทะลายปาล์มสด โดยปริมาณผลผลิตผันแปรตามปริมาณฝน กล่าวได้ว่าปาล์มเป็นพืชที่ชอบฝนตกชุก ซึ่งในปี 66 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ่ ราคาทะลายปาล์มสดจึงเกิดความผันผวนจากความกังวลความขาดแคลนของวัตถุดิบ สวนทางกับราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลง แต่คาดว่าผลกระทบจะคลี่คลายลงในปี 67 และกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับลง YoY ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่บัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่หมดอายุลงในเดือนม.ค.67 บริษัทมีแผนขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI ฉบับใหม่ เราจึงคาดอัตรากำไรสุทธิฟื้นตัวดีกว่าปี 66
การระดมทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและลดต้นทุนในการผลิตมีความเหมาะสม และมีปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้และกำไร ซึ่งต้องติดตามต่อ ดังนี้ 1. ปริมาณผลผลิตทั้งทะลายปาล์มสดและน้ำมันปาล์ม 2. ปริมาณน้ำมันปาล์มคงคลัง 3. อุปสงค์การใช้น้ำมันปาล์ม โดยปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อราคาของน้ำมันปาล์มด้วย
ความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1. ความผันผวนด้านราคาและการขาดแคลนวัตถุดิบ 2. ความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มดิบ 3. การเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐ โดยการประเมินเบื้องต้น อิงจาก PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มที่ 9.20 เท่า มองว่ามูลค่าเหมาะสมของบริษัท ณ ราคา IPO มีพรีเมียมแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 67)
Tags: APO, IPO, หุ้นไทย, เอเชียนน้ำมันปาล์ม