AOT-สตม.ขานรับนโยบายดันไทยเป็นฮับการบิน เพิ่มเจ้าหน้าที่ใหม่-เร่งวางระบบAutomatic channels

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ร่วมกับ พล.ต.ต. เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) ได้ลงพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อตรวจความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารช่วงวันหยุดยาว ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ประกาศผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค พร้อมกับมีข้อกำชับให้ ทอท. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการให้บริการในทุกจุดตั้งแต่ผู้โดยสารลงเครื่อง ระบบการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) การให้บริการภาคพื้น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เดินทางจากทั่วโลก เพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ในการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อขยายศักยภาพการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการในหลายส่วน โดยเฉพาะในท่าอากาศยานหลักๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเป็นจำนวนมาก เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการให้บริการพบว่า ปัจจุบันนับตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ มีผู้โดยสารมาใช้บริการในชั่วโมงคับคั่งประมาณ 5,000-6,000 คนต่อชั่วโมง โดยมีผู้โดยสารรอคิวในกระบวนการรวมที่ จุดตรวจค้นและจุดตรวจหนังสือเดินทาง ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่นสูงสุดอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 10 นาที และมีระยะเวลารอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 46 นาที ซึ่งยังคงนานเกินกว่าที่ ทอท.ได้ตั้งเป้าไว้ ว่าทั้งกระบวนการระยะเวลารอรวม ไม่ควรเกิน 30 นาที ดังนั้น ทอท. จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มความเร็วในการให้บริการ ดังนี้

1. จัดจ้างเจ้าหน้าที่สนับสนุนกระบวนการตรวจค้น และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในท่าอากาศยาน จำนวน 800 อัตรา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในวันที่ 30 มีนาคมนี้

2. ประสานความร่วมมือจาก ตม.2 ในการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจลงตราให้เต็มทุกเคาน์เตอร์ก่อนเข้าสู่ชั่วโมงคับคั่ง และการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ตม.2 ได้บรรจุเจ้าหน้าที่ใหม่แล้วจำนวน 200 อัตรา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอบรมภาคทฤษฎีคาดว่าจะสามารถ เริ่มปฏิบัติงานได้จริงตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ รวมทั้งยังมีแผนที่จะขอบรรจุอัตรากำลังเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราภายในปีนี้

3. ติดตั้งระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic channels) ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า และขาออกเพิ่มเติม ตลอดจนพัฒนาซอฟต์แวร์ของระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จำนวน 80 ช่องตรวจ โดยจะติดตั้งระบบ 20 ชุดแรก ภายในวันที่ 15 มิถุนายนปีนี้ และจะติดตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมด ภายในวันที่ 15 กรกฏาคมนี้

4. ประสานความร่วมมือในการขออนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจค้นให้สอดรับกับรูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน เช่น การตรวจ Power bank รวมถึงการลดขั้นตอนการถอดรองเท้าของผู้โดยสาร โดย ทอท.ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนแล้ว สามารถลดขั้นตอนบางส่วนลงได้ แต่ยังคงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดระยะเวลาบริการและความแออัดของผู้โดยสารขาออกได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการเช็กอินของสายการบิน ปัจจุบัน ทสภ. ได้นำระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ซึ่งประกอบด้วยบริการอัตโนมัติหลายระบบ มาให้บริการ ณ บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร เน้นการให้ผู้โดยสารใช้บริการด้วยตนเอง (Self Service) ลดการรอคิว อาทิ ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) พร้อมกันนี้ ทสภ. ยังร่วมกับสายการบินจำนวน 24 สายการบิน เปิดให้ผู้โดยสารสามารถทำการเช็กอินก่อนเวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถบริหารการเดินทางได้โดยสะดวกมีเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนออกเดินทางมากขึ้น และเป็นการลดความแออัดบริเวณโถงผู้โดยสารขาออกด้วย

นายกีรติ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล ทอท. ยังอยู่ระหว่างการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการของท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท. อีกหลายโครงการโดยเฉพาะ ทสภ. ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทางวิ่งให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในกลางปี 2567 นี้ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ที่จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกของอาคารเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. อีก 15 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแบบ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570

ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ที่ได้เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.จาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันให้สายการบินเพิ่มบริการ ณ SAT-1 เพิ่มขึ้น รวมถึงให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการภาคพื้นมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และบุคลากรเพื่อรองรับสายการบินที่ไปให้บริการที่ SAT-1 ซึ่งจะสามารถเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารของ ทสภ. ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ทอท. ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบให้สามารถมอบบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วยมาตรฐานสากลแก่ผู้โดยสาร มอบประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจแก่ผู้มาเยือนจากทุกมุมโลก มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวพร้อมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,