นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.กล่าวว่า โครงการพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 อนุมัติวงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบิน พื้นที่ใช้สอยกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้สูงสุด 23 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 72
หลังจากนั้นจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ที่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อขยายพื้นที่อาคาร และปรับมาให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้สูงสุด 27 ล้านคนต่อปี รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 240,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 74
โครงการนี้จะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีพื้นที่รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 400,000 ตารางเมตร ซึ่งน้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ประมาณ 450,000 ตารางเมตรเล็กน้อย และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.67 และเปิดประมูลได้ในเดือนมี.ค.68 โดยรวม 5 กลุ่มงานเป็นสัญญาเดียว เนื่องจากงานมีความซับซ้อนและมีการเชื่อมโยงของแต่ละกลุ่มงาน หากแยกประมูล 5 สัญญา อาจจะมีปัญหาเรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่สัมพันธ์กันและมีผลต่อการทำงานของแต่ละรายได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 68-74
นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.ยังวางเป้าหมายให้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีบทบาททางยุทธศาสตร์เป็น “ท่าอากาศยานที่รวดเร็วและสะดวกสบาย” หรือ “Fast and Hassle-free Airport” ด้วยจุดเด่นที่อยู่ไม่ไกลสามารถเข้าสู่ใจกลางเมืองได้เร็ว และการเข้าถึงจากจุดเช็คอินสู่เครื่องบินได้เร็ว และเป็นการเดินทางแบบ Point to Point มีผู้โดยสารหลักเป็นกลุ่มเอเชียและอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่สายการบินมีทั้ง โลว์คอสต์แอร์ไลน์ และสายการบินเต็มรูปแบบ ที่เข้ามาใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว
ปัจจุบัน สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารประมาณ 30 ล้านคน/ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นการขยายเฟส 3 เพื่อรองรับจะมุ่งสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนผู้โดยสารในประเทศใช้อาคาร 1 และ 2 ร่วมกัน ซึ่งหลังพัฒนาเสร็จจะมีพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว แม้แนวโน้มผู้โดยสารในประเทศแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับระหว่างประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น
สำหรับอาคารเช็คอินกรุ๊ปที่ติดกับอาคารหลังที่ 1 จะปรับเป็นพื้นที่พักคอยและพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังย้ายผู้โดยสารระหว่างประเทศไปใช้อาคารหลังที่ 3 และกรุ๊ปทัวร์จะไปใช้ที่ Junction Terminal แทน
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ในแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการพัฒนาอาคารคลังสินค้า 1 และ 2 ที่มีสภาพทรุดโทรม นับจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยจะปรับปรุงเพื่อขยายการรองรับปริมาณสินค้าจากใต้ท้องเครื่องบินระหว่างประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะมีปริมาณสินค้าถึง 500,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ จะมีการปรุงปรุงพื้นที่บริการผู้โดยสารส่วนบุคคล หรือ General Aviation (GA) ซึ่ง ปัจจุบันมีพื้นที่ Private Jet Terminal โดยจะเพิ่มพื้นที่คลังสินค้า 4 มาดำเนินการ และใช้วิธี PPP คัดเลือกผู้ให้บริการรายที่ 2 เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนทั้งหมด เนื่องจากเอกชนมีศักยภาพในการวิเคราะห์และทำการตลาดได้ดีกว่า ซึ่งได้หารือบอร์ด ทอท.ขอปรับจากเดิมที่เคยรวมไว้ในดอนเมืองเฟส 2 โดย ทอท.จะนำเงินลงทุนส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทปรับไปใช้งานก่อสร้างส่วนของการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินเพิ่ม เพื่อลดการใช้ Bus Gate ให้น้อยที่สุด
ปัจจุบัน Private Jet Terminal มีผู้ให้บริการอยู่แล้ว 1 ราย คือ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด (MJets) มีสัญญา 10 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 69 หลังจากครบสัญญา ทอท.จะนำพื้นที่ออกประมูลในรูปแบบ PPP เช่นกัน
นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.คาดการณ์ว่าธุรกิจ Private Jet จะดึงผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าชั้นดีอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา จากปัจจุบันมีวันละ20-30 เที่ยวบิน น่าจะเพิ่มเป็น 60 เที่ยวบิน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ ทอท.ได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยในแผนจะมีทั้งที่จอดเครื่องบิน และบริการซ่อมบำรุงเครื่องบินส่วนตัวแบบครบวงจร ทำให้ดอนเมืองเป็นศูนย์กลางด้านเที่ยวบิน Private Jet ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีงานปรับปรุงก่อสร้างอาคารจอดรถที่ปัจจุบันมีความแออัดอย่างมาก เพื่อให้สามารถรองรับเพิ่มได้อีก 4,000 คันหรือ 3 เท่าตัว เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงสร้างและปรับปรุงทางเชื่อมกับสถานีรถไฟ ทั้งสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และปรับปรุงถนนภายในด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร มี 4 ช่องจราจรระดับดินและยกระดับ 4 ช่องทาง
ส่วนทางยกระดับจากด้านหน้าสนามบินเชื่อมกับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น เบื้องต้นได้หารือกับกรมทางหลวงและบมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) แล้ว ว่าจะมีการดำเนินการร่วมกัน โดยทอท.รับผิดชอบก่อสร้างในพื้นที่ทอท.ไปจนถึงเขตรั้วและเอกชนรับผิดชอบส่วนที่ต่อเชื่อมกับดอนเมืองโทลล์เวย์โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม
สำหรับระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น นายกีรติกล่าวว่า เดิมจะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ด้านใต้ของสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อเชื่อมพื้นที่อาคารคลังสินค้า 4 ที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมกับอาคารในประเทศ (อาคาร 2) และอาคารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) แต่ขณะนี้เมื่อปรับคลังสินค้า 4 เป็น Private Jet ระบบ APM จึงตัดออกเพราะไม่จำเป็นและใช้เป็นทางเดินเชื่อมต่อพื้นที่อาคารผู้โดยสาร หลังที่1,2,3
นายกีรติ กล่าวว่า ทอท.มีความพร้อมทางการเงินในการลงทุนดอนเมืองเฟส 3 โดยมีกระแสเงินสดและรายได้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแต่อย่างใด โดยประเมินค่าลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 5-8 พันล้านบาท รวมไปถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ส.ค. 67 โครงการขยายสนามบินเชียงใหม่เฟส 2 และสนามบินภูเก็ตเฟส 2
นอกจากนี้ทอท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นดิน สนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 นั้น ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 กำลังพิจารณาร่างทีโออาร์ ในเดือนก.ค. 2567 นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ทั้งผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
นายกีรติ ย้าว่า ในปี 67 ทอท.คาดการณ์ผู้โดยสารของสนามบินทั้ง 6 แห่ง จะเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 120 ล้านคน ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกมีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนแล้ว แม้ว่าช่วงครึ่งหลังจะเป็น Low Season แต่เนื่องจากมีปัจจัยจากการบินฟื้นตัวมาช่วย คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนปี 68 คาดว่าจะมีผู้โดยสารจำนวน 140 ล้านคน ซึ่งจะกลับไปเท่ากับปี 62 ก่อนเกิดโควิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 67)
Tags: AOT, กีรติ กิจมานะวัฒน์, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานไทย