นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่า รายได้ในปี 66 ทำได้สูงกว่าเป้าหมายเติบต 20% และกำไรสุทธิจะเติบโตตามรายได้ โดยในงวด 9 เดือนแรก (ต.ค.-65-มิ.ย.66) มีรายได้รวม 3.3 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 5,358.9 ล้านบาท
“รายได้ปี 66 คาดว่าเราโตเกินกว่าเป้า 20% กำไรก็มีแนวโน้มเป็นบวก และช่วงปลายปีหน้า (ต.ค.-ธ.ค. 67) ทั้ง ICAO และ AOT ก็คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมา 100%”
นายกีรติ กล่าวกับ “อินโฟเคสวท์”
AOT คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในไตรมาส 4/66 (ก.ค.-ก.ย.66) จะเติบโตกว่าไตรมาส 3/66 (เม.ย.-มิ.ย.66) ราว 15% ในไตรมาสนี้ผู้โดยสารทุกสนามบินกลับมา 75% ของช่วงก่อนโควิด โดยผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้นมาที่ 1.6 แสนคน/วัน ขณะที่สนามบินดอนเมืองยังกลับมาค่อนข้างช้า เพราะตลาดจีนยังมาไม่เต็มที่
อย่างไรก็ดี จากโนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย AOT ได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีให้เตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสาร โดย AOT เล็งเพิ่ม Slot เที่ยวบินรองรับผู้โดยสารจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
และในไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมา 80% ของช่วงก่อนโควิด โดยผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ 1.8-1.9 แสนคน/วัน และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเต็ม 100% ของช่วงก่อนโควิดที่ 2.1-2.2 แสนคน/วันช่วงตารางบินฤดูหนาวปี 67 (ต.ค.-ธ.ค.67) ซึ่ง AOT และ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่าปี 67 ธุรกิจการบินกลับมาปกติแล้วเท่ากับปี 62
นอกจากนี้ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) จะเปิด Soft opening 28 ก.ย.นี้ เพื่อทดสอบระบบ และจะเปิดให้บริการเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.นี้ โดย SAT-1 จะรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ก็จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับได้เพิ่มเป็น 60 ล้านคน/ปี
สำหรับโครงการลงทุนใหม่ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ในส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้านบาท รวมวงเงิน 44,800 – 45,800 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอครม.ใหม่ได้ในปลายปีนี้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท
ขณะเดียวกัน การรับโอนสนามบินภูมิภาคมาบริหาร 3 แห่งได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ , ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานกระบี่ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติในปลายปีนี้เช่นกัน และจะเสนอขอรับโอนอีก 6 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานระนอง
ส่วนการลงทุนก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง คือสนามบินภูเก็ต 2 และ สนามบินเชียงใหม่ 2 อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของเงินลงทุน
ปัจจุบัน AOT เป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: AOT, กีรติ กิจมานะวัฒน์, ท่าอากาศยานไทย, หุ้นไทย