นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างทบทวนเป้ายอดขายที่ดินในปี 67 เนื่องจากบริษัทยังอยู่ระหว่างรอข้อสรุปการปิดดีลสัญญาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของลูกค้า ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 67 ไว้เบื้องต้นที่ใกล้เคียงหรือมากกว่า 1,800 ไร่
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีลูกค้าสนใจซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตได้เข้ามาสำรวจที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากจีนที่มีความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมที่ลูกค้าชาวจีนสนใจเข้ามาสำรวจที่ดิน คือ อมตะซิตี้ ระยอง ทำให้แนวโน้มความต้องการซื้อที่ดินในระยองจากผู้ประกอบการจีนสูงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ในปี 67 คาดว่าสัดส่วนลูกค้าจีนในระยองจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 90%
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มลูกค้าจีนสนใจเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยมากขึ้นมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนถือเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต และประเทศไทยเองก็มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อีกทั้งการเลือกตั้งของสหรัฐในปีนี้ยังเป็นความเสี่ยงหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถชนะการเลือกตั้งกลับมาได้ อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจากจีนต้องเตรียมความพร้อมมองหาการตั้งฐานการผลิตใหม่นอกประเทศจีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีลูกค้าผู้ประกอบการต่างๆเข้ามาสำรวจที่ดินในนิคมของบริษัทเป็นจำนวนมาก แต่คาดว่ายอดขายที่ดินในไตรมาส 1/67 จะชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากลูกค้าใหม่เพิ่งเข้ามาสำรวจที่ดิน และยังไม่ได้มีการตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อที่ดินในทันที ต่างจากไตรมาส 1/66 ที่มีการอั้นการเซ็นสัญญาซื้อที่ดินมาในช่วงปลายปี 65 ทำให้ยอดขายที่ดินในไตรมาส 1/66 สูงกว่าภาวะปกติ
ในปีนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติของธุรกิจ ทำให้ไตรมาส 1/67 ยอดขายที่ดินคงไม่สูงนัก แต่จะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/67 และไตรมาส 3/67 ตามลำดับ รวมถึงการโอนที่ดินให้กับลูกค้าที่ไตรมาส 1/67 อาจชะลอตัวเช่นเดียวกัน แต่จะทยอยสูงขึ้นตามยอดขาย ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น Backlog ในไทย 1.2 หมื่นล้านบาท และเวียดนาม 2 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนในปีนี้ราว 50%
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการปรับราคาขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมขึ้นราว 11-13% เป็นไปตามต้นทุนราคาที่ดินสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชลบุรี ระยอง และเวียดนาม ซึ่งไม่ได้กระทบต่อการตัดสินในซื้อที่ดินของลูกค้า โดยเฉพาะในนิคมที่ชลบุรีที่ราคาอาจจะมีการปรับขึ้นมาก แต่ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นและไต้หวันยังสนใจเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่อง
ส่วนกระแสข่าวของ TESLA ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และต้องการใช้ที่ดินก่อสร้างโรงงานผลิต 2 พันไร่ ทาง AMATA ก็มีความพร้อมในการจัดหาที่ดิน โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทที่ชลบุรีที่ยังมีที่ดินเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่ดินเป็นจำนวนมากหลักพันไร่ขึ้นไป ซึ่งไม่ปิดโอกาสหากมีลูกค้าที่สนใจซื้อที่ดินจำนวนมาก
นางสาวดาวเด่น โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน AMATA กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนมในปี 67 ไว้ที่ 5-6 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้ในการซื้อที่ดินเพื่อนำมารองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จากความต้องการของลูกค้าผู้ประกอบการต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังมีแผนการนำบริษัทในเครือที่ประกอบการด้านการให้บริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท คือ บริษัท อมตะ ยู จำกัด เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะมีการยื่นไฟลิ่งในปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 67)
Tags: AMATA, หุ้นไทย, อมตะ คอร์ปอเรชัน