“ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังรุนแรงแค่ไหน ก็ตอบได้แค่ว่า ในปีที่ผ่านมา วันอากาศดีของกรุงเทพทั้งปีนับรวมกันแล้วยังมีไม่ถึง 30 วันด้วยซ้ำ” นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ถึงมุมมองที่ว่าบทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงินจะมีมุมไหนที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง จึงนำมาสู่ “สินเชื่อสีเขียว” ที่ออกให้ผู้ประกอบการไปปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจบางอย่าง เพื่อที่จะลดการปล่อย Carbon Footprint ให้น้อยลง
“จากเดิมที่มองว่าการ Go Green เป็นเรื่องไกลตัว อยากให้ลองศึกษาก่อน ในมุมของภาคธุรกิจ การ Go Green เป็นการเติมศักยภาพในการแข่งขัน อย่าเห็นว่าการ Go Green เป็นรายจ่าย ให้เห็นว่าการ Go Green เป็นการลงทุน” นายรักษ์กล่าว
ทำไมต้อง “สินเชื่อสีเขียว”
ในช่วงแรก ๆ สินเชื่อสีเขียวมีราคาที่แพงกว่าสินเชื่อปกติ แต่เมื่อมีคนสนใจที่จะ Go Green มากขึ้น จึงทำให้ดอกเบี้ยที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการมีราคาต่ำลง อย่างวันนี้สินเชื่อสีเขียวถูกกว่าสินเชื่อปกติอยู่ประมาณ 50 Basis Points เป็นอย่างต่ำ ก็เลยเป็นที่มาว่าวันนี้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะทำความดีแล้ว แต่ประเด็นก็คือจะ Go Green ด้วยวิธีไหน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่สถาบันการเงิน รวมถึงพันธมิตรต่าง ๆ ต้องเข้ามาทำหน้าที่เปรียบเสมือน GPS ให้กับผู้ประกอบการ
“อย่าเห็นว่าการ Go Green เป็นรายจ่าย แต่ให้มองว่าการ Go Green เป็นการลงทุน”
ขอสินเชื่อสีเขียวแล้วเอาไป Go Green ยังไงต่อ !?
เราเริ่มจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงาน อาหารแปรรูป หรือกิจการอื่น ๆ ที่ต้องส่งออก หรือลงทุนด้านนี้อยู่แล้ว เพราะเขามีความพร้อม มีตลาดรองรับ ไม่ต้องไปสื่อสารกับเขามากมายว่าจะ Go Green ไปทำไม
ต่อมา เราเริ่มเห็นว่ามีผู้ประกอบการไซส์กลาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแปรรูปอาหารทะเล บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เริ่มเห็นเงื่อนไขที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วกว่า 20,000 ฉบับทั่วโลก จึงเป็นที่มาว่าผู้ประกอบการไซส์กลางก็ตื่นตัวที่จะมาขอวงเงินสินเชื่อสีเขียวด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการไทยจะมีจุดประสงค์การปรับเปลี่ยนอยู่ 2 รูปแบบ อย่าง Scope 1 คือการทำให้กิจการของตัวเองสะอาด อาทิ เครื่องจักรหรือระบบขนส่งที่ใช้อยู่ ก็ต้องเปลี่ยนให้เป็นระบบที่สะอาดขึ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นรถ EV หรือการเปลี่ยนเป็นระบบ Robotic หรือเครื่องจักรที่จะปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ส่วน Scope 2 คือเป็นการเปลี่ยนวิธีการใช้ไฟฟ้าในโรงงานให้สะอาดขึ้น เช่น Solar Rooftop ซึ่งทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไซส์กลางก็เข้ามาขอสินเชื่อสีเขียวเพื่อไปดำเนินการตรงนี้มากขึ้น
ระยะถัดไปในปีนี้ที่ EXIM จะเน้นมากที่สุดคือ Scope 3 ที่เราเรียกว่าการร่วมสร้างระบบนิเวศสีเขียวกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็น Big Corporate ที่เขาเริ่มต้นจากการทำ Scope ที่ 1 และ 2 สำเร็จแล้ว ระยะถัดไปคือต้องเผชิญความยากว่า ทำอย่างไรให้คู่ค้าใน Supply Chain ทั้งหมดเป็นสีเขียวทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาว่าในปีนี้ เราจะเริ่มปล่อยสินเชื่อที่เรียกว่า Green Supply Chain Financing ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถเปลี่ยนทั้งตัวเองและคู่ค้าให้เป็นผู้เล่นสีเขียวไปด้วยกันได้
ประเทศไทยต้องการสินเชื่อสีเขียวอีกมากเท่าไหร่ !?
ประเทศไทยต้องการเม็ดเงินสีเขียวประมาณ 7 ล้านล้านบาทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (NDC : Nationally Determined Contribution) ในปี 73 แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีเม็ดเงินสีเขียวอยู่ราว 4 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังมีช่องว่างเฉลี่ยราว 4.6-6.6 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี การทำให้ไทยเป็นประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสีเขียวได้นั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่เพียงสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ดีมานด์ของผู้ประกอบการก็ต้องเห็นพ้องที่จะ Go Green ด้วย
เดดไลน์มาแล้ว !! ธุรกิจไทยจะสีเขียวกี่โมง
ล่าสุด มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) กำลังเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกไปสู่โลกสีเขียวซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มในปี 69 ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีสุดท้ายสำหรับการปรับตัว
ทั้งนี้ หากบางธุรกิจมองว่า ไม่จำเป็นต้องไปตลาดยุโรป หรือไม่ต้องไปตลาดที่มีกฎกติกาเรื่องภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นั้น อยากให้ลองคิดตามว่า สุดท้ายแล้วจะเหลือกี่ประเทศในโลกที่ไม่สนใจเรื่องนี้ อย่างประเทศจีนก็ประกาศแล้วว่า สินค้าที่นำเข้าต้องระบุว่าปล่อยคาร์บอนกี่ตันในการขนส่งสินค้าเข้าประเทศ หรือประเทศอินเดียก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่ระบุว่า Packaging ที่จะเข้ามาในน่านฟ้า หรือน่านน้ำของอินเดีย ต้องเป็นไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ดังนั้น พื้นที่ในการจัดจำหน่าย หรือพื้นที่ในการทำธุรกิจที่ไม่ Go Green จะแคบลง
อย่างไรก็ดี การปรับธุรกิจให้ Go Green แม้ทั้งหมดจะเป็นการลงทุน แต่ในอีกมุมหนึ่งธุรกิจก็จะได้ประโยชน์ด้วย โดยสามารถทำได้ด้วยโมเดล “ทำ 2 ได้ 4” คือ
– “ทำ 2P” ได้แก่ 1) กระบวนการ (Process) เปลี่ยนเครื่องจักร และเปลี่ยนพลังงานให้สะอาดขึ้น และ 2) ปรับผลิตภัณฑ์ (Product) ให้รักโลกมากขึ้น
– “ได้ 4P” ได้แก่ 1) Price ตั้งราคาขายได้สูงขึ้น โดยเฉลี่ยทำราคาได้สูงกว่าคู่แข่งไม่ต่ำกว่า 15% 2) Profit ได้กำไรได้ไม่น้อยกว่าเดิม 2-2.5 เท่า 3) Place เข้าถึงตลาดกว้างขึ้น จาก 150 ประเทศที่ Go Green และ 4) Promotion ดอกเบี้ยถูกลง
“จากเดิมที่มองว่าการ Go Green เป็นเรื่องไกลตัวนั้น อยากให้ลองศึกษาก่อน ในมุมของภาคธุรกิจการ Go Green เป็นการเติมศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้นเราค่อยกลับมาดูว่าอะไรที่เราจะทำได้ง่ายที่สุดที่จะ Go Green เพื่อนำไปสู่ประเทศไทยที่สวยงามมากขึ้น” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)
Tags: All About ESG, ESG, EXIM BANK, SCOOP, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, รักษ์ วรกิจโภคาทร, สินเชื่อสีเขียว