ADVANC หั่นเป้ารายได้ค่าบริการปี 64 เหลือทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย,EBITDA ทรงตัว

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ปรับลดคาดการณ์รายได้ของปี 64 เหลือเพียงทรงตัวหรืออาจลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ลดลงเหลือแค่ทรงตัว เหตุด้วยปัจจัยเชิงลบที่สูงขึ้นกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้ออันเป็นผลจากสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2 และยังคงต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นด้านการจัดหาวัคซีน

อย่างไรก็ตาม เอไอเอสยังคงนโยบายลงทุนโครงข่ายในงบประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาทในปีนี้

อนึ่ง เดิม ADVANC คาดการณ์ปี 64 มีรายได้จากการให้บริการหลักจะเติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ ส่วน EBITDA เติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำเช่นกัน

ADVANC รายงานว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2/64 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลง ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีความอ่อนไหวต่อประเด็นการรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาในไทย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมรายได้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและปีก่อน โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงได้รับผลกระทบและมีรายได้ลดลงเล็กน้อย (-1.5% yoy,-0.9% qoq) ซึ่งอัตราการลดลงถือว่าดีขึ้นกว่าในหลายไตรมาสที่ผ่านมา ในส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านมีความต้องการสูงขึ้นจากความจำเป็นในการทำงานและเรียนจากที่บ้าน (+21% yoy, +6% qoq)

สำหรับธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรยังคงเติบโต 13% จากปีก่อน ในด้านการควบคุมค่าใช้จ่ายยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และเน้นการลงทุนขยายโครงข่าย 5G ส่งผลให้ยังคงรักษาระดับต้นทุนบริการโดยรวม (+3% yoy, -0.5% qoq) และมีค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารที่ลดลง(-15% yoy, -6% qoq)

โดยรวมแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ 7 พันล้านบาท ซึ่งทรงตัวจากปีก่อน (+0.6%) และเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาสนี้กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 6.6 พันล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

ณ สิ้นไตรมาส 2/64 มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 43.2 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้นสุทธิ 466,600 เลขหมาย โดยลูกค้ายังคงแนวโน้มเปลี่ยนบริการจากระบบเติมเงินไปยังรายเดือน ทำให้ฐานลูกค้าระบบรายเดือนเติบโต 3.3% จากไตรมาสก่อน และมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 471 บาท ลดลง 1.8%

ด้านฐานลูกค้าระบบเติมเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 114,900 ราย จากลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นชดเชยกับการลดลงของการใช้งานซิมเฉพาะกลุ่มที่สูงขึ้นมาในไตรมาสก่อน การแข่งขันด้านราคาในแพ็กเกจดาต้าแบบใช้งานไม่จำกัดยังคงกดดันระดับ ARPU ของลูกค้าระบบเติมเงินลดลงร้อยละ 5.5 จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 142 บาท ในส่วนของลูกค้าที่สมัครใช้บริการ 5G มีจ นวนรวม 1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 9.6% ของฐานลูกค้าระบบรายเดือน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)

Tags: , , ,