ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานในวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและแปซิฟิกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวภายในปี 2593 สู่ระดับ 1.2 พันล้านราย และการปฏิรูปนโยบายแบบครอบคลุมถือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของประชากรสูงวัย
รายงานระบุว่า อายุขัยที่ยืนยาวขึ้นนั้นสะท้อนถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แต่ภูมิภาคดังกล่าวยังไม่ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาวะของประชากรในช่วงที่เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและยังไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการด้านบริการการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น
“การพัฒนาอย่างรวดเร็วของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกถือเป็นความสำเร็จ แต่ภูมิภาคดังกล่าวกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่ และแรงกดดันดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB ระบุ
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ประชากรสูงวัยจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต้องทำงานต่อไปโดยไม่มีทางเลือกเพื่อหาเลี้ยงชีพแม้จะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า 94% ของประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกทำงานนอกระบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 67)
Tags: ADB, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, ผู้สูงอายุ, เอเชียแปซิฟิก