ADB ชี้การส่งผ่านอัตราแลกเปลี่ยนสู่เงินเฟ้อช่วยเพิ่มศักยภาพรับมือภาวะตื่นตระหนก

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานหัวข้อ “การส่งผ่านอัตราแลกเปลี่ยนสู่เงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่เอเชียและบทบาทของภาวะตื่นตระหนกทั่วโลก” (Exchange rate transmission to prices in emerging Asia and the role of global shocks) บนเว็บไซต์ ระบุว่า กลุ่มธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เอเชียได้ปรับปรุงโครงสร้างนโยบายการเงินของตนเองตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยฉุดรั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อและหนุนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคแบบเป็นวงกว้าง โดยแม้แนวทางดังกล่าวช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือภาวะตื่นตระหนกภายนอกให้กับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่ยังคงเป็นกลไกการส่งผ่านที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงและตลาดเงิน

ในปี 2565 การที่สหรัฐได้ออกมาตรการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น ได้ก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนโดยอัตราแลกเปลี่ยน (exchange rate-driven inflationary pressures) ในระดับโลก โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อพิจารณาสกุลเงินดอลลาร์ที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ กลุ่มผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้สกุลเงินอื่น ๆ ต้องเผชิญปัญหาเงินอ่อนค่าและเงินเฟ้อจากการนำเข้าสินค้าอย่างรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ธนาคารกลางในแต่ละประเทศจึงต้องใส่ใจอย่างใกล้ชิดต่อพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจกระทบต่อมาตรการสร้างเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อของตนเอง

รายงานระบุว่า เนื่องด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินตราต่างประเทศสำหรับทำการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นความยืดหยุ่นของการส่งผ่านอัตราแลกเปลี่ยน (ERPT) ของประเทศเหล่านี้จึงอาจขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบรายภาคส่วนของเศรษฐกิจและความเกี่ยวข้องที่มีต่อเศรษฐกิจต่างประเทศและพัฒนการทางการเงิน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงระดับความเชื่อมโยงทางการเงินโลกที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (EME) มีความเปราะบางต่อภาวะตื่นตระหนกทางการเงินและผลกระทบทางการเงินโลก โดยเฉพาะผ่านแนวทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ในเอกสารฉบับใหม่ของ ADB ได้ประเมินวิวัฒนาการของ ERPT ที่มีต่อเงินเฟ้อสำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย โดยพบว่า ERPT ลดลงสำหรับกลุ่ม EME ส่วนใหญ่ในเอเชียนับตั้งแต่เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์การเงินโลก โดยในช่วงหลังวิกฤตการณ์การเงินโลก กลุ่มประเทศในเอเชียปรับปรุงศักยภาพความยืดหยุ่นของการเงินมหภาคอย่างชัดเจน โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม EME ในเอเชียยังคงมีความเปราะบางต่อภาวะตื่นตระหนกที่แท้จริงจากต่างประเทศและภาวะตื่นตระหนกทางการเงิน แม้ระดับจะแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับธรรมชาติของภาวะตื่นตระหนกนั้น ๆ โดยรายงานระบุว่า ERPT นั้นยังไม่สมบูรณ์และส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเงินเฟ้อผู้ผลิตมากกว่าเงินเฟ้อผู้บริโภค

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อธิบาย “การส่งผ่านอัตราแลกเปลี่ยนสมบูรณ์” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาขายสินค้าในสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออกไปยังราคาขายสินค้าในสกุลเงินของประเทศผู้นำเข้า อันเนื่องมาจากผลของการเปลี่ยนแปลงหรือการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศผู้ส่งออกกับประเทศผู้นำเข้า ทำให้ราคาขายสินค้าจากประเทศผู้ส่งออกกับราคาขายสินค้าจากประเทศผู้นำเข้าไม่เท่ากันตามความเป็นจริง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)

Tags: , , ,