นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “จับตา อย่าให้ใครโกง…” ระบุว่า ว่า ข้อมูลจาก ACT Ai พบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 8 หมื่นโครงการใน 10 หน่วยงานที่ซุกซ่อนอยู่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ส่อจะเกิดคอร์รัปชันมากที่สุด และยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยอ้างว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน
สำหรับ 10 อันดับหน่วยงานที่มีโครงการจัดซื้อน่าจับตามอง ประกอบด้วย
- กรมชลประทาน 6,197 โครงการ
- กรมการปกครอง 2,513 โครงการ
- กรุงเทพมหานคร 2,111 โครงการ
- กรมทางหลวงชนบท 1,966 โครงการ
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,503 โครงการ
- กรมทางหลวง 1,020 โครงการ
- การประปาส่วนภูมิภาค 993 โครงการ
- การประปานครหลวง 949 โครงการ
- กรมทรัพยากรน้ำ 828 โครงการ
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 725 โครงการ
ทั้งนี้ ACT Ai รวบรวมข้อมูลจากระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง โดยในการตรวจจับความผิดปกตินั้นระบบจะแสดงเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง เมื่อโครงการนั้นๆ ส่อให้เห็นความเสี่ยงที่ผิดปกติในการเสนอราคา ไม่ใช่การตัดสินว่าเกิดคอร์รัปชันแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น มีผู้ซื้อซองจำนวนมากแต่เข้าเสนอราคาน้อยราย, มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน, มีผู้ที่ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่เสนอราคาต่ำสุด, บริษัทที่ได้งานเสนอราคาเท่าราคากลางหรือต่ำกว่าเพียง 0-1% ขณะที่รายอื่นๆ เกาะกลุ่มเสนอสูงกว่าราคากลาง เป็นต้น
การประเมินดังกล่าว รวมถึงกรณีที่เรียกกันทั่วไปว่าฮั้วแตก และฟันราคาเพื่อให้ได้งานที่จะมีราคาประมูลต่ำผิดปกติ 20-70% กรณีเช่นนี้หน่วยงานอาจได้รับผลดีคือ จ่ายเงินน้อย ต้นทุนต่ำ หรืออาจเกิดผลเสียเพราะคู่สัญญาอาจส่งมอบงานไม่ได้ เนื่องจากราคาต่ำเกินจริงมาก
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมแวดล้อมอีกมากที่ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มีการหมุนเวียนกันยื่นประมูลงานในหลายโครงการโดยผลัดกันเป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุด (ผู้ชนะ) หรือราคาสูงกว่า (คู่เทียบ) ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้เอกสารเงินค้ำประกันซองจากแหล่งเดียวกันหรือใช้หลักทรัพย์เดียวกัน ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้ที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อที่เดียวกัน เป็นต้น
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมักเป็นไปตามแบบแผนซึ่งต้องมีคณะกรรมการ มีการอนุมัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนมีช่องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเจรจาวางแผนโกงได้ เช่น
1.ขั้นตอนเขียนโครงการของบประมาณ อาจมีการวิ่งเต้นให้อนุมัติโครงการหรืองบประมาณ แบ่งการจัดซื้อเป็นหลายโครงการให้วงเงินน้อยลง ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ
2.ขั้นตอนเขียนทีโออาร์มีการล็อคสเปกหรือวางเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง
3.ขั้นตอนเปิดประมูลหรือจัดซื้อโดยวิธีอื่น มีการฮั้วประมูล สมยอมราคา แบ่งงานกันไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กีดกันหรือเปิดเผยความลับแก่คู่แข่งขันบางราย
4.ขั้นตอนทำสัญญาและบริหารสัญญา มีการรับสินบน ช่วยเหลือเอกชน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มีการลักสเปก ลดเนื้องาน แก้แบบ เพิ่มเนื้องาน โยนภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างให้หน่วยงาน
5.ขั้นตอนรับมอบงาน ส่งงานไม่ได้คุณภาพหรือผิดเงื่อนไข ยกเว้นค่าปรับหรือปรับน้อยเกินจริง จ่ายเงินผิดเงื่อนไข เอกชนฉ้อโกงหน่วยงานแต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นต้น
โดยขั้นตอนการเขียนทีโออาร์และการประมูล ถือเป็นสองช่วงสำคัญที่มีการโกงอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นมากที่สุด ดังนั้น ACT จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.สร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกับ ACT Ai ให้มีศักยภาพมากขึ้น ดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ธนาคาร กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจ ฯลฯ ทำงานเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น
2.หน่วยงานรัฐต้องกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อฯ ที่จูงใจและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าแข่งขันมากๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเอง
3.นอกจากหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ครบถ้วนแล้ว เอกชนทุกรายที่สมัครใจเข้าประมูลงานเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ต้องยินยอมให้รัฐเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้สาธารณชน สื่อมวลชนและผู้ประกอบการอื่นตรวจสอบความถูกต้อง
4.กำหนดมาตรฐานการบันทึกข้อมูลในระบบของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานจัดซื้อ ให้มีรูปแบบไฟล์/เอกสารที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปศึกษา-วิเคราะห์ได้ง่ายโดยหน่วยตรวจสอบ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.),สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)) และผู้สนใจ
5.หัวหน้าหน่วยงานรัฐต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างครบวงจร และวางมาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างจริงจัง รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ACT Ai เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน มีข้อมูลการจัดซื้อฯ ตั้งแต่ปี 2558-2564 รวมทั้งหมด 22,182,987 โครงการ ในจำนวนนี้พบโครงการที่ใช้ e-bidding และมีเครื่องหมายแจ้งเตือนว่าเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทั้งสิ้น 80,866 โครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 65)
Tags: ACT, จัดซื้อจัดจ้าง, มานะ นิมิตรมงคล, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน