AAV ตั้งเป้าปี 65 ผู้โดยสาร 13.5 ล้านคน Load Factor 80-83% จาก 3 ล้านคนปีนี้

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารในปี 65 ไว้ที่ 13.5 ล้านคน อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 80-83% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 3 ล้านคน โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวนผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ บริษัทกลับมาเริ่มทำการบินในประเทศตั้งแต่เดือน ก.ย.64 หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทำการบินแล้วราว 20% จากในปี 62 ทำการบิน 40-50 เที่ยวบิน/วัน ใช้เครื่องบิน 10 ลำ และในเดือน พ.ย.64 เพิ่มทำการบินเป็น 40% ใช้เครื่องบินกว่า 10-20 ลำ และคาดว่าในเดือน ธ.ค.64 น่าจะเพิ่มเป็น 70-80% ซึ่งจะใช้จำนวนเครื่องบิน 30 ลำ จากนั้นจะสามารถกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศเต็ม 100% ในเดือน ม.ค.65

ขณะที่อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ในเดือน ต.ค. 64 อยู่ที่ 70% ภายใต้ข้อจำกัดจำนวนที่นั่ง 75% ส่วนในเดือน พ.ย.64 สามารถนั่งได้เต็ม 100% คาดว่า Load Factor จะทรงตัวอยู่ทื่ 70% ถือว่าเป็นระดับที่บริษัทพอใจ

สำหรับเส้นทางต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะต้องติดตามว่าแต่ละประเทศจะเปิดประเทศอย่างไร ทั้งนี้ เบื้องตั้นมองว่าในปี 65 เป็นปีของการฟื้นตัว ซึ่งไทยแอร์เอเชียจะกลับมาเปิดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศในเดือน ธ.ค.64 เริ่มจากประเทศมัลดีฟส์ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว คาดว่าจะมี load Factor ที่ราว 70-75%

จากนั้นในปี 65 จะเริ่มทยอยเปิดทำการบินระหว่างประเทศมากขึ้น โดยในไตรมาส 1 จะทำการบิน 5-10% ที่เริ่มไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง และอินเดีย ในไตรมาส 2/64 ก็น่าจะเปิดเพิ่มเป็น 20-30% เพิ่มเส้นทางบินไปจีน ไตรมาส 3 จะเปิดเส้นทางจีนมากขึ้น และญี่ปุ่นบางเมือง ต่อจากนั้นในไตรมาส 4 น่าจะทำการบินถึงระดับ 60-70% และเพิ่มความถี่ได้

บริษัทคาดว่าหลังจากกลับมาบินมากขึ้นก็จะทำให้กระแสเงินสดเข้ามาช่วยทำให้สภาพคล่องของบริษัทเข้มแข็งขึ้น แต่ยอมรับคงยังมีกำไรได้ยาก แต่คาดว่าในปี 66 น่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ เพราะทั้งเส้นทางการบินในประเทศและต่างประเทศกลับมาบินได้ 100%

สำหรับเครื่องบิน บริษัทจะคืนผู้ให้เช่าตามสัญญา 6 ลำ เหลือ 54 ลำในปี 65 โดยคาดว่าจะใช้ 30 ลำในปีหน้า และเพิ่มเป็น 51-54 ลำในปี 66

นายสันติสุข ยังกล่าวว่า จากเดิมที่จะนำสายการบินไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแทน AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จะเพิกถอนออกไปนั้น พบว่าเป็นวิธีที่มีความยากและซ้ำซ้อน รวมทั้งเงื่อนเวลาไม่อำนวย ดังนั้น หลังจากปรึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเปลี่ยนมาเป็นแผนปรับโครงสร้างเงินทุนของ AAV เพราะเป็นแนวทางที่ทำง่ายขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็วกว่าแนวทางเดิม และจะได้เงินทุนใหม่ในเวลาที่เหมาะสม

แนวทางดังกล่าวคือการเพิ่มทุนให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 26 พ.ย.นี้ ทำให้บริษัทจะมีเงินทุนใหม่เข้ามา 1.4 หมื่นล้านบาท เข้ามา 2 งวด ในเดือน ธ.ค.64 จำนวน 1. 1 หมื่นล้านบาท และอีก 3 พันล้านบาทเข้ามาในเดือน ม.ค.65 ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ และนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพียงพอในปี 65

นายสันติสุข กล่าวว่า นักลงทุนใหม่ที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา เพราะพวกเขารู้ดีว่าการเดินทางท่องเที่ยวไม่สามารถชดเชยได้ และสุดท้ายการระบาดของโควิด-19 ก็จะคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ และเขาเลือกไทยแอร์เอเชีย เพราะเป็นสายการบินที่มีศักยภาพ มีทั้ง Network ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้นำในตลาด รวมทั้งมีบุคคลาการและเครื่องบินพร้อม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)

Tags: , , ,