ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เป็นระดับ “BBB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ของ TFG สะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของ CGIF ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA/Stable” จากทริสเรทติ้ง ในฐานะผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของบริษัท
การเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินและกระแสเงินสดที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของบริษัท ในการนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งที่มีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภายในประเทศ อีกทั้งยังสะท้อนถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความผันผวนของราคาอาหารสัตว์ และการก่อหนี้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไก่รายอื่น ๆ เช่น โรคระบาดในไก่และผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 จากราคาสุกรและไก่เนื้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการขาดแคลนสุกรและการฟื้นตัวของอุปสงค์หลังจากที่ตลาดส่งออกในบางประเทศเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการบ้างแล้วในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นอกจากนี้ การที่ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวลดลงยังส่งผลทำให้อัตรากำไรของบริษัทในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.1% ในปี 2563 จากระดับ 7.0%-12.6% ในระหว่างปี 2560-2562
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2563 จากระดับ 1.8-3.1 พันล้านบาทในระหว่างปี 2560-2562 ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16% ในปี 2563 จากระดับ 6.6%-10.8% ในช่วงปี 2560-2562
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 แม้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยจะรายงานว่าราคาขายเฉลี่ยของอาหารสัตว์จะปรับตัวสูงขึ้น 9%-13% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่บริษัทก็ยังคงสามารถปรับสูตรอาหารสัตว์เพื่อชดเชยกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจึงยังคงอยู่ในระดับที่ดีในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงอยู่ที่ระดับ 1.1 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 6%-9% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 จากการเติบโตของรายได้ในธุรกิจปศุสัตว์และธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-13% ในช่วงปี 2564-2566 ด้วย
– การฟื้นตัวของอุปสงค์จากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก ยอดขายในตลาดภายในประเทศของธุรกิจไก่เนื้ออ่อนตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อันเกิดจากอุปสงค์ที่ซบเซาลงจากผลกระทบของการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทั้งนี้ ยอดขายภายในประเทศของธุรกิจไก่เนื้อปรับตัวลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 9.3 พันล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ยอดขายรวมของตลาดภายในประเทศยังคงเติบโตที่ระดับ 5% หรือคิดเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจสุกร
ตลาดภายในประเทศยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 80% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563 จนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยอดขายในตลาดส่งออกก็เติบโตด้วยเช่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทส่งออกเนื้อไก่ชำแหละแช่แข็งจำนวน 61,175 ตันและไก่ปรุงสุกจำนวน 7,227 ตันในปี 2563 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ยอดส่งออกของบริษัทเติบโตที่ระดับ 6% มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอันสืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นและจีนรวมถึงประเทศในทวีปยุโรป โดยบริษัทมียอดส่งออกในสัดส่วน 20% ของยอดขายรวมในปี 2563 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายภายในประเทศของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะอยู่ที่ระดับ 2.9-3.2 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่ารายได้จากการส่งออกในปี 2564 จะลดลงที่ระดับ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยจะอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านบาทและหลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับ 1% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
– เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทยโดยดำเนินธุรกิจแบบกึ่งครบวงจร (Vertically Integration) ในธุรกิจไก่เนื้อและสุกร บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกับผู้ประกอบการขนาดกลางในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่วนใหญ่ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์คิดเป็น 8% ในผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อ 10% และในผลิตภัณฑ์สุกร 5% ในขณะที่ผู้นำตลาดในประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจอาหารสัตว์และสินค้าจากปศุสัตว์ ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกร ธุรกิจอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่เนื้อปรับตัวลดลงในช่วงปี 2563 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ในอนาคตข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงให้มากขึ้นซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์จากสุกร สินค้าส่งออก และร้านค้าปลีก
– ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลางในช่วงการลงทุน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 50.1% ในปี 2562 และเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 48.3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแรงจนสามารถใช้ชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนงบลงทุนไว้ที่ระดับ 2.8-5.6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งสูงกว่าระดับ 1.3-3.6 พันล้านบาทในช่วงปี 2561-2562 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายลงทุนที่บริษัทวางแผนไว้ดังกล่าวจะใช้ในการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจสุกรตลอดจนใช้ลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงธุรกิจไก่เนื้อ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 51% ในช่วงปี 2564-2566
ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมที่มีหลักประกันจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 อัตราส่วนของระดับภาระหนี้ตามสิทธิการเรียกร้องต่อภาระหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 50% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการด้อยสิทธิ์ของภาระหนี้ที่ไม่มีหลักประกันตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง
– กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 จำนวน 547 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.6 พันล้านบาทในปี 2565 โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 304 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่อีกจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 26%-29% ในช่วงปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 9-10 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
– สถานะทางเครดิตของ CGIF สะท้อนถึงสถานะการเป็นสถาบันระหว่างประเทศ (Supranational Institution) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย รัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ (ASEAN+3) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเรียกรวมกันว่า “กลุ่มผู้ร่วมทุน” (Contributors) ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CGIF จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกหลักของกลุ่มผู้ร่วมทุนในยามคับขัน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเงินทุน ตลอดจนนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง และสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 6%-9% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
-อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 9%-11% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-13% ในระหว่างปี 2564-2566
-ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.8-5.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในธุรกิจไก่และสุกรภายในประเทศต่อไปได้ อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะเครดิตในปัจจุบันเอาไว้ได้ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการแผนการใช้จ่ายและลงทุนที่ค่อนข้างสูงให้บรรลุผลอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของ TFG สะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ CGIF
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดที่มากขึ้นอย่างมีสาระสำคัญโดยที่ยังรักษาเสถียรภาพของกระแสเงินสดเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้แข็งแรงต่อไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรหรือผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้ยืมจำนวนมากที่อาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ อันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของ TFG อาจเปลี่ยนแปลง หากอันดับเครดิตของ CGIF มีการเปลี่ยนแปลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 64)
Tags: TFG, ทริสเรทติ้ง, อันดับเครดิต, ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป