กทม.สะกิดเตือนเช็คโควิดหลังสงกรานต์ เฝ้าระวัง-รับมือสายพันธุ์ใหม่

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีการจัดงาน ทำให้เกิดการรวมตัวกันเล่นน้ำสงกรานต์ ประกอบกับประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับไปพบปะญาติ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยก่อนสงกรานต์จนถึงสัปดาห์สงกรานต์มีจำนวนมากขึ้น จำนวนผู้ที่นอนโรงพยาบาลสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตยังคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในการติดตามจำนวนผู้ป่วยโควิด โดยจะต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไปอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เพื่อดูแนวโน้มและเฝ้าระวัง รวมถึงการให้คำแนะนำกับประชาชนด้วย

สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับมาจากการเล่นน้ำสงกรานต์ หรือไปในที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ขอให้สังเกตตัวเอง โดยขอความร่วมมือนำมาตรการโควิดในช่วงที่มีการระบาดมาใช้ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมประมาณ 1-2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือ

ในส่วนของประชาชนที่มีญาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรค (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน) และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ขอให้เว้นระยะในการพบปะกัน ให้ผ่านช่วงนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อสังเกตว่าตนเองมีอาการของโควิดหรือไม่ ซึ่งอาการของโควิดที่สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ไข้ ไอ หวัด เจ็บคอ เหมือนอาการหวัดทั่วไป

พบสายพันธุ์ใหม่ 7-10% แนวโน้มอาจระบาดมากขึ้น

เรื่องของโควิดสายพันธุ์ใหม่ จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) วานนี้ (18 เม.ย. 66) ยังพบว่า สายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่ประเทศไทยรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ยังเป็นสายพันธุ์ XBB.1.5 ถึง 47%

ส่วนสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่พบในรายงาน มีแค่ประมาณ 7-10% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอาจจะพบการระบาดมากขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ XBB.1.16 ด้วย

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์ใหม่นั้นไม่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ยังคงเหมือนสายพันธุ์เดิม ทั้งการเจ็บป่วย รวมทั้งอัตราการนอนโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต ทั้งนี้ เท่าที่ดูตัวเลขจากทั่วโลก มีอัตราการระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม 5 เท่า แต่อาการไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ใช้ยาทั่วไปได้ เหมือนการรักษาที่ผ่านมา อาการของเชื้อสายพันธุ์ใหม่เหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่มีลักษณะพิเศษที่อาจจะมีเยื่อบุตาแดงหรือตาอักเสบเพิ่มเติม

ดังนั้น ในช่วงนี้หากมีอาการ ขอให้เว้นระยะจากผู้อื่น ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน ATK ก็ยังสามารถใช้ตรวจเบื้องต้นได้ หากอาการน่าสงสัย สามารถตรวจ ATK ได้ทุก 1-2 วัน ถ้าผลเป็นบวกก็สามารถไปรับยาตามสิทธิ์การรักษาได้ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของกทม. ทั้ง 69 ศูนย์ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

แนะประชาชนกระตุ้นวัคซีนปีละ 1 ครั้ง/กลุ่ม 608 ปีละ 2 ครั้ง

เรื่องการฉีดวัคซีน มีคำแนะนำสำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม ให้ไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ ทั้งที่ ศบส. 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ ตามวันและเวลาที่แต่ละแห่งให้บริการ

ในกรณีประชาชนทั่วไป มีคำแนะนำใหม่ คือ ก่อนหน้านี้ให้ฉีดกระตุ้นหลังเข็มล่าสุด 4 เดือน ปรับเป็นฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยอาจจะเริ่มฉีดในช่วงนี้หรือเดือนพ.ค. 66 ร่วมกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาให้บริการตั้งแต่เดือนพ.ค. เป็นต้นไป ส่วนในกรณีผู้มีความเสี่ยง 608 ควรจะฉีดปีละ 2 ครั้ง โดยกรุงเทพมหานครได้มีการสำรองทั้งยาและวัคซีนไว้อย่างเพียงพอ

ใช้มาตรการเดิมรับมือ ยาและเตียงเพียงพอ

นพ.สุขสันต์ กล่าวถึงความพร้อมรับมือสถานการณ์ขณะนี้ เรื่องการให้บริการทั้ง 12 โรงพยาบาล ยังมีคลินิก ARI หรือคลินิกโรคทางเดินหายใจให้บริการอยู่ ดังนั้น คนไข้ที่มีอาการคล้ายโควิด-19 หรือเป็นหวัดก็จะถูกแยกตรวจ และถ้าอาการน่าสงสัย แพทย์ก็จะตรวจ ATK ให้ พร้อมจ่ายยาให้ตามสิทธิและตามอาการ ซึ่งยามีเพียงพอแน่นอน

ส่วนเรื่องเตียงผู้ป่วย ขณะนี้ใน 12 โรงพยาบาล มีการสำรองเตียงโควิดไว้ 130 เตียง ให้บริการอยู่ 35 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย. 66) หรือประมาณ 26.9% ยังมีเตียงที่สำรองไว้เหลืออยู่มาก ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมแผนเอาไว้ด้วย ในกรณีหากมีคนไข้นอนโรงพยาบาลมากขึ้น ก็สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้ตามสถานการณ์ ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล มีเตียงเพียงพอแน่นอนเช่นกัน

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่สาธารณะ หรือไปเล่นน้ำในที่ที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก ให้สังเกตอาการตัวเองเป็นประมาณ 7-10 วัน ว่ามีอาการเป็นไข้หวัด เคืองตาหรือตาแดง หรือมีอาการหรือไม่ ในระหว่างที่ยังไม่มีอาการ ขอความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา หากสงสัยให้ตรวจ ATK หรือไปพบแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้โรคมีการระบาดมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 66)

Tags: , , , ,