ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 เม.ย.66 ถึงทุกพรรคการเมืองที่นโยบายหาเสียงมีการใช้จ่ายเงิน ให้ชี้แจงรายละเอียดให้ครบถ้วนตามมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 กำหนดกลับมายังสำนักงานกกต.ภายในวันที่ 18 เม.ย.นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย.66 พบว่าในจำนวน 70 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แยกเป็น พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ 67 พรรค และพรรคที่ส่งเฉพาะผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3 พรรค มีพรรคการเมืองทยอยแจ้งรายละเอียดตาม มาตรา 57 กลับมาเพิ่มอีก 3 พรรคการเมือง เมื่อรวมกับ 6 พรรคการเมืองที่มีการแจ้งรายละเอียดมาก่อนที่สำนักงาน กกต. มีหนังสือแจ้งไป ทำให้ล่าสุดขณะนี้มีพรรคการเมืองได้ดำเนินการตามมาตรา 57 แล้ว รวม 9 พรรคการเมือง
โดยในจำนวนนี้มี 5 พรรคการเมือง ที่ดำเนินการครบถ้วน คือ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ประกอบด้วย 1.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 2.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 3.พรรคทางเลือกใหม่ (ทลม.) 4.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ค.พ.ช.) 5.พรรคไทยรวมไทย (ทรท.)
ส่วน 4 พรรคการเมืองที่มีการรายงานมา แต่รายละเอียดไม่ครบถ้วน และสำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือแจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย 2.พรรคประชาภิวัฒน์ ที่ขาดการแจ้งที่มาของเงิน และวงเงินที่จะใช้ 3.พรรคประชาธิปไตยใหม่ ขาดการแจ้งผลกระทบ และความเสี่ยง และ 4.พรรคเพื่อชาติ ขาดการแจ้งทั้ง 3 เงื่อนไข
ขณะที่อีก 61 พรรคการเมืองที่เหลือ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พรรคก้าวไกล (กก.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรครักษ์รักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.) พรรคไทยภักดี (ทภด.) พรรคเส้นด้าย (สด.) เป็นต้น ยังไม่แจ้งรายละเอียดใดๆ เลย
แต่ทั้งนี้ คาดว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ จะมีการแจ้งรายละเอียดกลับมายังสำนักงาน กกต.ตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากในหนังสือที่สำนักงานกกต. แจ้งไปให้พรรคการเมืองดำเนินการนั้น มีการระบุโทษหากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามคำสั่งของ กกต.ไว้รุนแรง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 66)
Tags: กกต., นโยบายหาเสียง, พรรคการเมือง, เลือกตั้ง