ฟิตฮับ (Fit Hub) บริษัทสตาร์ทอัพด้านฟิตเนสสัญชาติอินโดนีเซีย สามารถระดมทุนได้ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทระดมทุนในรอบซีดฟันดิง (Seed Funding) ได้รวม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 2565 จากนักลงทุนซึ่งประกอบด้วยบริษัท โกลบอล ฟาวน์เดอร์ส แคปิตอล (Global Founders Capital), ไทรฮิลล์ แคปิตอล (Trihill Capital) และกู๊ดวอเตอร์ แคปิตอล (Goodwater Capital) หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม 2565ก็สามารถระดมทุนในรอบซีดเอ็กซ์เทนชัน (Seed Extension) ได้อีก 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนซึ่งนำโดยเวฟเมกเกอร์ พาร์ทเนอร์ส (Wavemaker Partners) ร่วมด้วยไทรฮิลล์ แคปิตอล, อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures), เจนทรี (Gentree) และเบซ แคปิตอล (BAce Capital)
บี. พอล ซานโตส หุ้นส่วนผู้จัดการของเวฟเมกเกอร์ พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า ฟิตฮับตั้งเป้าที่จะรับมือกับอัตราโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ด้วยการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงฟิตเนสได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่ตำแหน่งในตลาดของฟิตฮับก็มีความโดดเด่นมาก โดยเป็นธุรกิจที่เข้าถึงลูกค้าในท้องถิ่นด้วยการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพสูงในราคาย่อมเยากว่าที่อื่นถึง 50% เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาของฟิตฮับ ในขณะที่ทางบริษัทเตรียมรุกเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคในปีต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ ฟิตฮับตั้งเป้าที่จะแก้ปัญหาที่ท้าทายในอินโดนีเซีย เช่น ค่าสมัครสมาชิกฟิตเนสที่ค่อนข้างสูง และการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพได้อย่างจำกัด ด้วยการเปิดฟิตเนสเพื่อสุขภาพ 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดยทางบริษัทกำลังเดินหน้าเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อมาร่วมทีมงานที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
วี. เอียน สุไลมาน รองประธานฝ่ายการลงทุนของไทรฮิลล์ แคปิตอล ได้เปิดเผยมุมมองที่มีต่อแนวทางของฟิตฮับว่า “ผู้ที่รักการออกกำลังกายต่างชื่นชอบสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สามารถจดจ่ออยู่กับการออกกำลังกาย และสามารถเข้าออกสถานที่ได้ทันทีที่ต้องการ ดังนั้น ความไม่สะดวกสบายต่าง ๆ เช่น การต้องเดินลัดเลาะผ่านห้างสรรพสินค้าก่อนที่จะเข้าไปถึงตัวฟิตเนส จะทำให้ความอยากออกกำลังกายลดน้อยลงไป เพราะต้องวนหาที่จอดรถและเดินเท้าต่ออีก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ฟิตเนสของฟิตฮับตั้งอยู่ในอาคารเดี่ยวที่เป็นเอกเทศ
เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนจะช่วยขยายธุรกิจของฟิตฮับทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์การออกกำลังกายฟรี ตลอดจนธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ชุดและอุปกรณ์ออกกำลังกาย รวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ
นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ฟิตฮับได้ขยายสาขาออกไปถึง 60 สาขา ใน 14 เมืองทั่วอินโดนีเซีย และดึงดูดสมาชิกแบบจ่ายค่าบริการกว่า 50,000 รายด้วยกัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เพิ่งเข้าฟิตเนสเป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การตั้งราคาที่จับต้องได้เพียง 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จึงช่วยลดช่องว่างในตลาดฟิตเนสของอินโดนีเซียซึ่งค่าสมัครสมาชิกฟิตเนสส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 66)
Tags: Fit Hub, ฟิตฮับ, ฟิตเนส, ออกกำลังกาย