ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรด 66 – 70 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติเสนอ เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และแปรรูปสับปะรดแบบครบวงจร
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรดฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ คือ ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ 5 พันธกิจหลัก ดังนี้
1. สนับสนุนและพัฒนาสับปะรด ให้สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการวิจัยและสายพันธุ์ การบริหารจัดการแปลง การบริหารจัดการดินและน้ำ การบริหารโซนนิ่งการเกษตร การจัดการระบบโลจิสติกส์ และการบริหารผลผลิตสับปะรด ให้มีความสมดุล ทั้งอุปสงค์ อุปทานของระบบเศรษฐกิจ การเกษตรมูลค่าสูงและการบริโภค
3. เสริมสร้างขีดความสามารถ และการบริหารจัดการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการเป็นศูนย์กลางการผลิต การแปรรูป และการตลาด
4. ส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิตเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงในอาชีพ สามารถบริหารจัดการการเกษตรที่ยั่งยืนด้วยตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5. ส่งเสริมการสร้างสรรค์วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตการแปรรูปและการตลาด
สำหรับตัวชี้วัดของร่างแผนฉบับนี้ ประกอบด้วย
– พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ จำนวน 1,000 ไร่ต่อปี
– ผลิตภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี
– มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 23,700 ล้านบาท)
– รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 330,700 บาท)
สำหรับสถานการณ์สับปะรดโรงงานในปี 2566 คาดว่า มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตรวม 1.65 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูก 430,958 ไร่ ซึ่งลดลงจากปี 2565 เนื่องจากเกษตรกรได้ลดพื้นที่เพาะปลูกลง เพราะปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาปุ๋ย สารเคมี และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ส่วนผลผลิตสับปะรดในปี 2566 นี้ 72% ของผลผลิตทั้งหมด จะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และผลผลิต 28% ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ
ส่วนข้อมูลการส่งออกสับปะรดปี 2565 ไทยส่งออกสับปะรดในรูปแบบผลิตภัณฑ์รวม 512,574 ตัน มูลค่า 23,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 12.14% โดยประเทศที่ไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ในส่วนของราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. แบ่งเป็น 1. สับปะรดที่ส่งเข้าโรงงาน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.50 บาท) และ 2. สับปะรดที่ใช้บริโภค เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 10.06 บาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 66)
Tags: ครม., ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, สับปะรด, แปรรูปอาหาร