นายจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายแนะนำการลงทุน บริษัท คลาสสิก ออสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ทิศทางราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังได้เข้าสู่ทิศทางขาลงชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากได้รับแรงกดดันมากขึ้น หลังจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการชะลอการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หลังมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นบวกมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว
โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลงมาลึกมากที่สุดที่ 1,761 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์
นายจรณเวท กล่าวว่า เมื่อมองทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีกค่อนข้างมาก จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่อาจจะค่อยๆเห็นการชะลอลง จากภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กลับมาได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งกระแสข่าวของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาเซนต์หลุยส์ ได้ออกมาบอกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปี 65 ส่งผลกดดันต่อราคาทองคำมากขึ้น ยังไม่รวมในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้
ขณะที่ทิศทางของกองทุนทองคำ SPDR ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่าจะขายหรือกลับมาทยอยซื้อทองคำ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าซื้อทองคำและได้เทขายออกไปบางส่วน แต่ยังมีทองคำอยู่ค่อนข้างมากเกือบ 1,050 ตัน ซึ่งยังคงจับตาดูทิศทางของกองทุนทองคำ SPDR จะไปทางฝั่งใด หากมีทิศทางการทยอยขายทองคำออก จะเป็นแรงกดดันราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนทองคำนั้นแนะนำนักลงทุนรอจังหวะการเข้าลงทุนไปอีกสักระยะ จากราคาทองคำที่ยังต้องเผชิญแรงกดดันเข้ามาได้อีก ทำให้ระดับแนวรับของทองคำมีโอกาสที่จะลงไปลึกกว่าที่ประเมินไว้ได้ และแนะนำให้เน้นไปในการลงทุนระยะสั้นในช่วงขาลงมากกว่า หาโอกาสในการทำกำไรเมื่อราคาทองคำรีบาวด์ โดยที่ในเบื้องต้นให้กรอบราคาทองคำไว้ที่ 1,730-1,815 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์
นางสาวเบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า การส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเริ่มชะลอการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ทิศทางราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความเสี่ยงทิศทางขาลงมากขึ้น หรืออาจจะจบรอบขาขึ้นของทองคำในช่วงระยะสั้น-กลางไปแล้ว จากมุมมองภาพบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาเป็นบวกมากขึ้น และ Dot plot ของธนาคารกลางสหรัฐฯที่ออกมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ภายในปี 66 ส่งผลหนุนต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น กดดันราคาทองคำ
ขณะที่ภาพของกองทุนทองคำ SPDR ในปัจจุบันยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ซื้อทองคำเข้ามาก่อนประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯและได้ขายออกไปหลังจากประชุมธนาคารสหรัฐฯ แต่โดยรวมในสัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นการขายสุทธิ และกองทุนทองคำ SPDR ยังมีการถือครองทองคำในระดับสูงเกือบ 1,050 ตัน ซึ่งยังคงต้องติดตามทิศทางต่อไปว่ากองทุนทองคำจะพิจารณาทิศทางการลงทุนทองคำอย่างไร เพราะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามมองว่าทิศทางขาลงของราคาทองคำในระยะสั้นยังมีกรอบจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง มาจากนโยบายด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ล่าสุดยังคงให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อ ปัจจัยของเงินเฟ้อที่สูง จะทำให้ยังมีนักลงทุนเข้ามาซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อในระดับสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศที่จะเข้ามาช่วยพยุงราคาทองคำไว้ ทั้งความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นต้น รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯที่ยังมีการขาดดุล ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังไม่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมากนัก และมองว่าการซื้อทองคำของประเทศจีนและอินเดียยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงราคาทองคำไว้ แต่ยังต้องรอหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจน
โดยที่กลยุทธ์การลงทุนทองคำไม่แนะนำให้นักลงทุนถือครองทองคำยาว การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แนะนำให้เน้นการเล่นระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงจากแรงกดดันต่อราคาทองคำที่ยังมีโอกาสเข้ามาเพิ่มเติมได้ และเน้นการจับจังหวะราคาเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำปรับตัวลดลงมาอีก และหาจังหวะการขายทำกำไรเมื่อทิศทางราคาทองคำกลับตัวขึ้นไป โดยที่มองกรอบราคาทองคำไว้ที่ 1,749-1,803 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์
นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวว่า มุมมองราคาทองคำในระยะสั้น-กลาง ได้เข้าสู่ขาลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากราคาทองคำหลุดระดับ 1,800 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์ ลงมาเรียบร้อยแล้ว และมีโอกาสปรับตัวลงไปเคลื่อนไหวในระดับ 1,700-1,750 เหรียญสหรัฐฯได้ หลังจากที่มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากดดันราคาทองคำมากขึ้น และยังไม่มีปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่ชัดเจน
โดยจากสัปดาห์ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯสร้างเซอร์ไพรส์ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯเร็วกว่าที่ตลาดคาด และการหารือเกี่ยวกับการชะลอการอัดฉีดเม็ดเงินและซื้อสินทรัพย์ หลังจากที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯมีทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการประชุมในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 3 ครั้ง ซึ่งยังต้องจับตาดูว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีส่งสัญญาณในเรื่องใดออกมาบ้าง ซึ่งมีผลต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อาจจะแข็งค่าขึ้นได้อีก และกดดันราคาทองคำได้เพิ่มเติม
ด้านกองทุนทองคำ SPDR ยังคงอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามทิศทางว่าจะมีการเข้าซื้อทองคำในช่วงขาลงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือจะหันมาทยอยเทขายออกมาต่อเนื่อง หลังจากในช่วงที่ผ่านมากองทุน SPDR เข้าซื้อสะสมทองคำไว้เป็นจำนวนมาก และเริ่มเห็นสัญญาณการเทขายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากยังมีแรงเทขายของกองทุนทองคำ SPDR ต่อเนื่อง จะยิ่งกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลงได้อีก
อย่างไรก็ตามมองว่าหากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนทองคำในระยะยาวยังสามารถถือครองทองคำในระยะยาวไว้ได้ เนื่องจากมองว่าเมื่อตลาดรับรู้ปัจจัยต่างๆเข้ามาและเริ่มรับข่าวไปมากแล้ว ทิศทางของราคาทองคำจะกลับเข้าสู่จุดที่เหมาะสม และมองว่าในระยะยาวราคาทองคำยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากเป็นการลงทุนในระยะสั้นแนะนำให้หาจังหวะในการเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำย่อตัวลง และหาจังหวะในการขายเมื่อราคามีการรีบาวด์ดีดกลับในช่วงขาลงของราคาทองคำ โดยที่ให้กรอบราคาทองคำไว้ที่ 1,700-1,800 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์
“รอบนี้ราคาทองคำย่อตัวลงมาแรง เหมือนมารับคนที่ตกรถที่รอเข้าซื้ออยู่ ใครที่รอซื้อก็หาจังหวะในการเข้าซื้อเมื่อราคาลงมาต่ำ เพราะหากเป็นถือในระยะยาวก็มองว่าไม่น่ากังวลมาก ราคาทองคำน่าจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นได้ เพระเมื่อตลาด Settle แล้ว ราคาในระยะยาวก็คงไม่กลับมาลงลึกอีก”นายณัฐพงศ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: คลาสสิก ออสิริส ฟิวเจอร์ส, จรณเวท ศักดิ์ศรี, ทองคำ, ราคาทอง, ราคาทองคำ, วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล, เบญจมา มาอินทร์