นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 กรอบวงเงินงบประมาณ 7,566.86 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.6 ล้านราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ ประมาณ 18.18 ล้านไร่ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/66 กรอบวงเงินงบประมาณ 716.10 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 2 แสนราย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.95 ล้านไร่ ซึ่งคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการดังต่อไปนี้
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีราคายางตกต่ำ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง โดยประกันรายได้เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางสด (DRC 100%) กิโลกรัมละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 23 บาท
โดยประกาศคณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง (ยางพารา) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 กำหนดวงเงินชดเชยประกันรายได้กว่า 6,628 ล้านบาท เกษตรกรผู้รับผลประโยชน์ 1,604,379 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,183,764.59 ไร่ ดังนี้
1.1 ประกันรายได้ เดือนตุลาคม 2565 กำหนดราคากลางอ้างอิง : ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 11.59 บาท น้ำยางสดกิโลกรัมละ 12.23 บาท และยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 1.95 บาท วงเงินจ่ายชดเชย 2,604 ล้านบาท
1.2 ประกันรายได้ เดือนพฤศจิกายน 2565 กำหนดราคากลางอ้างอิง : ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 15.25 บาท น้ำยางสดกิโลกรัมละ 15.10 บาท และยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 4.06 บาท วงเงินจ่ายชดเชย 4,024 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมโอนเงินไปยังเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เมื่อ กยท. มีการจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนพร้อมพื้นที่เพาะปลูกยางของเกษตรกรมาให้ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว
2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/66 เพื่อผ่อนคลายปัญหาด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เสถียร ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากมาตรการภาครัฐอย่างทั่วถึง โดยประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศที่ทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2566 (ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์)
โดยประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 งวดที่ 1-5 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2566 จำนวน 245,471 ครัวเรือน พื้นที่ 3.85 ล้านไร่ กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน จึงไม่มีการจ่ายเงินสำหรับงวดดังกล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงิน ได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile และ A-Mobile Plus ตลอด 24 ชั่วโมงและจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official : BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ สำหรับเกษตรกรที่มีข้อสอบถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 เม.ย. 66)
Tags: ฉัตรชัย ศิริไล, ธ.ก.ส., ประกันรายได้ข้าวโพด, ประกันรายได้ยาง