พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยถึงการจัดการและเตรียมความพร้อมดูแล หลังมีการนัดชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ได้แก่
กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า นำโดยนายชาติชาย ไพลิน นัดรวมตัวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เวลา 13.00 น.เพื่อจัดกิจกรรมรำลึก 89 ปี อภิวัฒน์สยาม 2475
กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ นัดรวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.00 น.เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก นัดรวมตัวเวลา 12.00 น.
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายเจษฎา ศรีปลั่ง นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 11.00 น. เพื่อทำกิจกรรมขับไล่รัฐบาล
กลุ่มคนไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ นัดรวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล
โฆษก บช.น. กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การดำเนินการตามมาตรา 3 อนุ 6 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่สามารถกระทำได้ ถ้ามีการรวมตัวกันจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ โดยมีการเตรียมกำลังไว้ตามสถานการณ์ข่าว
สำหรับจุดเฝ้าระวังพิศษคือ จุดสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถานที่สำคัญของประเทศ เพราะหากเกิดความเสียหายไปแล้วไม่สามารถซ่อมแซมได้ ส่วนการข่าวยังไม่มีรายงานผู้เข้ามาก่อเหตุความวุ่นวาย อย่างไรก็ตามตำรวจนครบาลมีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
ขณะนี้เขต กทม.เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่หรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงไม่ให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพฯตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากผู้ใดฝ่าฝืนรวมทั้งผู้จัดการชุมนุม ผู้ร่วมชุมนุมจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค.63 ข้อ 3 ประกอบกับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มี.ค.64 สำหรับผู้ชักชวนให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมใดๆ จะมีความผิดในส่วนของผู้สนับสนุนจะต้องรับโทษเช่นเดียวกัน กรณีผู้จัดเวที เครื่องเสียงอุปกรณ์ต่างๆ เป็นความผิดฐานให้การสนับสนุนจะต้องรับโทษตามกฎหมาบเช่นเดียวกัน
“ขอเน้นย้ำไปยังพี่น้องประชาชนว่า ขณะนี้กรุงเทพฯและพื้นที่อื่นของประเทศไทยยังมีสถานการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นความเดือดร้อนของประชนเป็นลำดับแรก และการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังอยู่ในอัตราที่สูง ผู้ชุมนุมนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ย้ำเตือนผู้จะมาร่วมชุมนุมให้ละเว้นการกระทำดังกล่าว” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัด ขอให้ดูว่าในพื้นที่มีข้อกำหนดอย่างไร ผู้ชุมนุมปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าทำแล้วเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องไปดูคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ที่รับผิดชอบในการดำเนินการให้เป็นไปตามความปลอดภัยของสาธารณสุข ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคำสั่งและประกาศที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ฝากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สายตรวจ ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่ปฏิบัติกับหน่วยงานร่วมปฏิบัติที่จะฝ่าพันอุปสรรคในการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปได้ ในส่วนของการชุมนุมบังคับใช้กฎหมายตามปกติ
สำหรับสถิติคดีนับตั้งแต่มีการชุมนุมมาตั้งแต่เดือน ก.ค.63 มีการดำเนินคดีไปแล้ว 150 คดี ผู้ต้องหา 150 คน ซึ่งเป็นการดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน ผู้ที่มาชุมนุมในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีภายหลังอยู่แล้ว โดยการดำเนินคดีรวมไปถึงผู้สนับสนุนและผู้ยุยง โดยเฉพาะทางโซเชียล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: กฤษณะ พัฒนเจริญ, ชุมนุม, ตำรวจนครบาล, บช.น., ปิยะ ต๊ะวิชัย, สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข