กทพ.เดินหน้าสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 เริ่มทำเฮียริ่ง, N2 เตรียมชงบอร์ดก่อนเสนอรบ.ใหม่

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 66 จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N 1(ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน – ถนนประเสริฐมนูกิจ)

โดยตอน N1 ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 11 กม. นั้น ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ ซึ่งมีประเด็นช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแนวทาง เจรจาที่ ม.เกษตรฯ ยอมรับ คือ จะก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน หน้าม.เกษตร โดยแนวเส้นทาง N1 จะคู่ขนานกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยจากถนนประเสริฐมนูกิจ ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า จะเป็นโครงสร้างยกระดับ พอมาถึงหน้าม.เกษตรฯ รถไฟฟ้ายังยกระดับตามเดิม ส่วนทางด่วนของเป็นอุโมงค์ใต้ดิน และกลับเป็นโครงสร้างยกระดับ เหมือนกับรถไฟฟ้าสีน้ำตาล ที่บริเวณหน้าเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเส้นทาง N1,N2 มีความสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตก (E-W Corridor) ของกทม.แก้ปัญหาจราจรได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของเส้นทาง ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีวงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท มีความพร้อมในการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อ วันที่ 1 ก.พ. 2565 เห็นชอบให้กทพ.ดำเนินการแยกจาก ตอน N1 ช่วงศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งยังไม่สรุปรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งกทพ.ได้นำเสนอโครงการ N2 ไปกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังไม่เห็นด้วยกับการแยก N2 มาดำเนินการก่อน โดยเห็นว่าควรก่อสร้างทั้ง เส้นทาง N1-N2 จึงเสนอครม.ที่ผ่านมาไม่ทัน

ทั้งนี้ กทพ.จะประมวลข้อมูลและปรับแก้รายการคำนวนให้เรียบร้อยและสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ.พิจารณาในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมเสนอขออนุมัติ เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ต่อไป

“เสาตอม่อ แนวถนนประเสริฐมนูกิจ มีอายุ 25 ปี แล้ว ซึ่งตรวจสอบฐานราก ยังใช้ได้ จะรื้อเสาออกและก่อสร้างได้ โดยจะใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง เนื่องจาก มีการปรับแผนการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) วงเงิน 14,374 ล้านบาทโยก ไปใช้ในทางด่วน ฉลองรัช” ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา”แล้ว “

สำหรับแนวเส้นทาง ระยะที่ 1 ตอน N2 มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.1+000 ของ ถนนประเสริฐมนูกิจ ยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชบริเวณทางแยกฉลองรัช ไปสิ้นสุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก (ทล.9) บริเวณทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว ระยะทาง 11.3 กม.ค่าก่อสร้าง 16,960 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ส่วนทดแทนตอน N1 มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากทางพิเศษศรีรัช ที่บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจร มุ่งหน้าทิศตะวันออกไปตามแนวถ.งามวงศ์วาน ผ่าน ม.เกษตรฯ และยกระดับเชื่อมต่อกับทางพิเศษตอน N2 ระยะทาง 11 กม. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 30,747 ล้านบาท รวมค่าลงทุน 31,747 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 66)

Tags: , ,