ธปท. เร่งวางเกณฑ์คุมแบงก์คิดค่าธรรมเนียม ย้ำต้องสะท้อนต้นทุนจริง

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มีเป้าหมายจะยกระดับให้การใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของประชาชน เพื่อมุ่งสู่การลดใช้เงินสดในระยะยาว ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2565-2567

ทั้งนี้ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การพิจารณาทบทวนโครงสร้างราคาของบริการชำระเงิน และค่าธรรมเนียมการชำระเงินรูปแบบต่างๆ ทั้งเงินสด เช็ค และบริการชำระเงินดิจิทัลให้เหมาะสม ภายใต้หลักการ ดังนี้

1. สนับสนุนให้ลูกค้าสามารถใช้บริการชำระเงินได้เพิ่มขึ้นและทั่วถึง

2. สนับสนุนให้การพัฒนาบริการด้านการชำระเงินดิจิทัลสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับกลไกตลาด รวมทั้งรองรับบริการชำระเงินที่จะมีหลากหลายรูปแบบในอนาคต และที่สำคัญต้องตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม

น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาวางแนวทางโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทั้งระบบการชำระเงินให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้นและเป็นสากล โดยจะนำมาใช้ประเมินเพื่อพิจารณาปรับปรุงและหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำมาเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินนำไปปรับใช้ต่อไป

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศจัดเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตร (Cardless ATM Withdrawal) ครั้งละ 10 บาท เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงินไม่ใช้บัตร 1 ครั้งต่อเดือน (ฟรี 1 ครั้งต่อเดือน ครั้งถัดไปคิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ถึง 31 ก.ค.66 ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ต่อมา ธนาคารกรุงไทย จึงประกาศยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 66)

Tags: , , ,