ฟิทช์คงอันดับเครดิต DAOLSEC ที่ BB+(tha) เปลี่ยนเป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพจากลบ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นของบล. ดาโอ (ประเทศไทย) หรือ DAOLSEC ที่ ‘BB+(tha)’ และ’B(tha)’ ตามลำดับ พร้อมกันนี้ ได้ยกเลิก ‘เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ’ และให้ ‘แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ’ แก่อันดับเครดิตในประเทศระยะยาว

การประกาศคงอันดับเครดิตและยกเลิก ‘เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ’ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า การเพิ่มทุนของบริษัทจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสียหาย (loss-absorption capacity) และช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงทางลบต่อคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการในกรณีที่อาจมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอนาคต

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ DAOLSEC ที่ ‘BB(tha)’ และยกเลิก’เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ’ อันดับเครดิตนี้ยังรวมไปถึงหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่อยู่ในขั้นตอนการออกเสนอขาย ซึ่งฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตไว้เมื่อ 14 ธันวาคม 2565 โดยการออกเสนอขายครั้งมีมูลค่าเสนอขายเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 450 ล้านบาท หุ้นกู้ ด้อยสิทธิชุดนี้จะมีอายุ 1 ปีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดเดิม

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

การเพิ่มทุนในระดับสูงช่วยสนับสนุนอันดับเครดิต: DAOLSEC ดำเนินการเพิ่มทุนจำนวน 400 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จากผู้ถือหุ้นซึ่งคือ บริษัท ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด เงินเพิ่มทุนนี้ส่งผลให้อัตราส่วนสินทรัพย์มีตัวตนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ไม่รวมสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (tangible assets-to-tangible equity ratio) ลดลงจากระดับ 5.9 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เป็นต่ำกว่า 4.0 เท่า

ช่วยให้กิจการมีเงินทุนเพิ่มขึ้นมากในการรองรับความเสี่ยงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น

กระบวนการทางกฎหมายยังคงดำเนินอยู่: DAOLSEC เป็น 1 ใน 11 บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่มีความผิดปกติในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งกิจการมีสถานะที่มีความเสี่ยง (exposure) ในธุรกรรมดังกล่าวในปริมาณที่มีนัยสำคัญต่อลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อดำเนินการต่อสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์เพื่อดำเนินการขอชดเชยความเสียหายแล้ว แต่ผลการตัดสินคดีความนั้นยังอาจใช้เวลาระยะหนึ่ง

มีความเสี่ยงเชิงลบจากคุณภาพสินทรัพย์: DAOLSEC บันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมผิดนัดชำระดังกล่าวเป็นลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต และมีการตั้งสำรองบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม โอกาสในการได้รับชดเชยนั้นยังมีความไม่แน่นอนในระดับสูง ซึ่งหากกิจการไม่สามารถตัดจำหน่ายหนี้สูญได้ทั้งจำนวน อาจทำให้มีการตั้งสำรองด้อยค่าเพิ่ม ทำให้มีความเสี่ยงที่ผลประกอบการจะขาดทุนอีกปีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม

ฟิทช์เชื่อว่าส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับปัจจุบันจะช่วยรองรับให้บริษัทสามารถตั้งสำรองเพิ่มในขณะที่ยังรักษาเสถียรภาพของระดับหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้

มีระดับเครือข่ายทางธุรกิจที่เพียงพอ: ฟิทช์คาดว่าการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะช่วยให้กิจการสามารถรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าและผู้ลงทุนได้

และการประกาศคงอันดับเครดิตนี้อยู่บนสมมติฐานว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายที่มีนัยสำคัญต่อเครือข่ายทางธุรกิจ (franchise) ของ DAOLSEC ในระยะยาว ทั้งนี้ กิจการมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงจาก 1.3% ในปี 2565 อยู่ที่ระดับ 0.9% ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม DOALSEC ยังคงสามารถรักษาระดับตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจอื่นเช่น ธุรกิจนายหน้าซื้อขายสัญญาล่วงหน้าและการจัดจำหน่ายหุ้นกู้

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): อันดับเครดิตภายในประเทศของ DAOLSEC อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตลง หากระดับหนี้สินของกิจการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อัตราส่วนสินทรัพย์มีตัวตนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ไม่รวมสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (tangible assets-to-tangible equity ratio) อยู่ในระดับคงที่มากกว่า 5.5 เท่า ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จาก

การมีความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม หรือ ผลประกอบการที่ปรับตัวด้อยลงต่ำกว่าคาดอย่างมีสาระสำคัญและส่งผลระทบต่อการสร้างเงินทุนจากกระแสเงินสดภายใน (Internal Capital Generation) หรือมีเหตุการณ์ที่บ่งชี้ได้ว่า กิจการมีจุดอ่อนด้านการควบคุมความเสี่ยงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น หรือ มีความเสียหายระยะยาวต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าและเจ้าหนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อันดับเครดิตปรับลดลงได้

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) ฟิทช์เห็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะอันใกล้นั้นมีจำกัด เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการตลอดจนการควบคุมด้านความเสี่ยงของกิจการนั้นปรับตัวด้อยลง และยังมีความเสี่ยงที่อาจต้องตั้งสำรองเพิ่ม

อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิมีระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของDAOLSEC อยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risks) ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีมากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิซึ่งเป็นผลมาจากสถานะด้อยสิทธิของหุ้นกู้ โดยผู้ถือหุ้นกู้จะมีลำดับสิทธิในการเรียกร้อง (priority of claims) ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญซึ่งเป็นแนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตที่สอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ (Corporate Hybrids Treatment and Notching Criteria)

ฟิทช์ไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption features) และไม่มีคุณสมบัติการแปลงเป็นทุน (equity conversion) ฟิทช์ไม่ได้พิจารณาให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีส่วนของหนี้ที่คิดเป็นทุน (equity credit) เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเงินทุนของบริษัท

อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศ

ระยะยาวของ DAOLSEC การปรับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ DAOLSEC ก็น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิได้รับการปรับอันดับเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 66)

Tags: , ,