เลือกตั้ง’66: ฝ่ายค้านร้อง กกต.แก้วิธีลงคะแนนเลือกตั้งต่างแดน

4 พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเสรีรวมไทย (สรท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.)พรรคประชาชาติ (ปชช.) และ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้แก้ไขวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในบางประเทศ โดยขอให้ กกต.ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแก้ไขใน 5 เรื่อง

1.ขอให้ประสานสถานทูตและสถานกงสุลทุกแห่งใช้วิธีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นหลัก

2.การจัดเลือกตั้งที่สถานทูตหรือหน่วยเคลื่อนที่ให้จัดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

3.ขอให้ปรับเปลี่ยนกำหนดการส่งกลับบัตรเลือกตั้งมายังสถานทูตให้มีระยะเวลาที่ไม่เร่งรับเกินไป เช่น ขยายไปถึงวันที่ 4 พ.ค.66 เพราะสถานทูตยังมีเวลาอีก 10 วันที่จะส่งบัตรกลับประเทศไทยได้

4.ขอให้สถานทูตที่มีความพร้อมจัดให้มีการนับคะแนนได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่เปิดช่องไว้ ซึ่งก็จะแก้ไขปัญหาบัตรส่งกลับประเทศไทยไม่ทันเวลาได้ด้วย

5.ให้นำรายละเอียดการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศทั้งหมดเผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบได้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนและนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กฎหมายกำหนดไว้ 3 รูปแบบ 1.ใช้สิทธิที่สถานทูต 2.หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ และ 3.ไปรษณีย์ ซึ่งรูปแบบที่ประชาชนใช้สิทธิมากที่สุดคือทางไปรษณีย์ น้อยที่สุดคือสถานทูต

แต่ปัญหาขณะนี้คือสถานทูตหลายๆ ประเทศมีการออกประกาศยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จอร์แดน อียิปต์ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ยาก และยังพบว่าในบางประเทศกำหนดวันเลือกตั้งที่สถานทูตเป็นวันราชการ เช่น เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก กำหนดเป็นวันอังคาร, มาเลเซียกำหนดเป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ กลายเป็นการจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถมาใช้สิทธิได้เพราะต้องเสียเวลาทำงาน

นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศที่กำหนดให้ใช้สิทธิทางไปรษณีย์มีการกำหนดวันส่งกลับบัตรเลือกตั้งจากประชาชนเร็วเกินไป ทั้งที่บัตรเลือกตั้งของ กกต.จะส่งถึงสถานทูตในวันที่ 12 เม.ย.66 แต่กลับให้ประชาชนส่งกลับบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ใช้สิทธิแล้วมายังสถานทูตในวันที่ 28 เม.ย.66

นายสมชัย กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งที่ กกต.จะส่งถึงสถานทูตคือวันที่ 22 เม.ย.กว่าสถานทูตจะส่งให้กับคนไทยในต่างประเทศอาจใช้เวลา 2-3 วัน บางทีกว่าจะถึงมือประชาชนอาจจะเลยกำหนดเวลาที่จะส่งกลับ ดังนั้นการกำหนดให้ส่งบัตรเลือกตั้งมายังสถานทูตในวันที่ 28 เม.ย.นั้นยังเร็วไป และอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกมากเพียงพอ

นายสมชัย กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศราว 1.3 ล้านคน โดยคาดว่าน่าจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 1 ล้านคน ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1 แสนคน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าใช้สิทธิมาก แต่ยังเห็นว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิสามารถเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้หาก กกต.และกระทรวงการต่างประเทศอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาใช้สิทธิ

หาก กกต.จะปรับเปลี่ยนวีธีตามข้อเรียกร้อง เชื่อว่าสามารถทำได้ทันเวลา ไม่กระทบต่อแผนจัดการเลือกตั้งที่ได้วางไว้ ซึ่งหลังจากมีกระแสข่าวว่าทางสถานทูตไทยในเบลเยี่ยมกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอังคาร 24 เม.ย.66 และมีการท้วงติงทางสถานทูตก็มีการปรับเปลี่ยนในทันที โดยให้การเลือกตั้งที่สถานทูตเป็นวันอาทิตย์ และเพิ่มรูปแบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้า กกต.และกระทรวงการต่างประเทศตั้งใจที่จะแก้ไข สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การที่สถานทูตมาเลเซียกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 27-28 เม.ย.นั้น เป็นการไม่คำนึงถึงบริบทวันที่มีการละศีลอด และวันที่ 22 เม.ย.เป็นฮาลีลายอ คนไทยในมาเลเซียถ้าเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทย และจะอยู่ที่ไทยประมาณ 10 วัน ซึ่งจะคร่อมวันเลือกตั้ง ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งของสถานทูตมาเลเซียในวันดังกล่าว เหมือนเป็นการกลั่นแกล้งประชาชนคนไทยที่มีความตื่นตัวทางประชาธิปไตยสูง

นอกจากนี้ตนยังได้รับหนังสือร้องเรียนจากประธานสมาคมอาหารต้มยำที่มีสมาชิกเกือบ 3,000 คนว่าอยากให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เพราะถูกยกเลิกไป และขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันหยุดราชการเป็นวันที่ 4-5 เม.ย. และจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนต่างๆ จะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)

Tags: , , , ,