นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่หลายพื้นที่อาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยมอบหมายให้ กอนช.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ล่าสุด มีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 1 อำเภอ ใน 1 จังหวัดใน คือ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 หลังเกิดภัยแล้งในพื้นที่หมู่ที่ 1-7 ตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ส่งผลกระทบกับประชาชนและพื้นที่การเกษตร
ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการจัดซื้อน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับประชาชนโดยเร่งด่วนแล้ว นอกจากนี้ กอนช.ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยทหาร จังหวัด ท้องถิ่น โครงการชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่เข้าไปเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 16 สาขา 14 จังหวัด พบว่า มี 1 สาขา เริ่มได้รับผลกระทบแนวโน้มน้ำดิบสำหรับผลิตประปาไม่เพียงพอ คือ สาขาสว่างแดนดิน (หน่วยบริการหนองหาน) อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เนื่องจากแหล่งน้ำต้นทุนหลักคืออ่างเก็บน้ำห้วยทรายน้อย ซึ่งได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ หนองเสวย หนองบ่อ และหนองสระคาม เป็นแหล่งน้ำใช้ผลิตประปา สามารถจ่ายน้ำได้ถึงวันที่ 10 มิ.ย.นี้ โดย สทนช.จะได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ ได้ประหยัดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขต กปภ.หรือ ประปาท้องถิ่น 136 ตำบล 54 อำเภอ 20 จังหวัด พบว่า ยังไม่พบพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
ขณะเดียวกัน สทนช.ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1-4 ติดตามสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติม จากที่ได้ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวังไว้เดิม ประกอบด้วย 4 พื้นที่หลัก ซึ่งมีแผนเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ได้แก่
1. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำผลิตน้ำประปา จำนวน 3 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด ในเขต จ.เชียงราย และ จ.เพชรบูรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้นำรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชน และเติมน้ำในบ่อพักน้ำประปาหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว
2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรนอกเขตชลประทาน จำนวน 2 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งมักประสบปัญหาน้ำเค็ม ทำให้ขาดแคลนน้ำจืดในพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรี ตามจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
3. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จำนวน 6 ตำบล 4 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ซึ่ง อบต.ได้นำรถบรรทุกน้ำแจกจ่าย และเติมน้ำในสระให้กับประชาชน
4. พื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านคุณภาพน้ำ (น้ำเค็ม) ในเขต กปภ. สาขาบางปะกง และสาขาบางคล้า มีการรับน้ำดิบจากสาขาข้างเคียงจากการประปานครหลวง (กปน.) และจากเอกชน
อย่างไรก็ตาม กอนช. จะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงแล้งที่ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้น้อยที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)
Tags: กอนช., ขาดแคลนน้ำ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ภัยพิบัติ, ภัยแล้ง, สุรสีห์ กิตติมณฑล