แมนูไลฟ์ (Manulife) เผยแพร่งานวิจัยชี้การใช้ชีวิตหลังเกษียณได้นานและมีสุขภาพแข็งแรงเป็นความต้องการของผู้บริโภค ขณะที่คนเอเชียจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่เสื่อมถอยหลังวัยเกษียณ และค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพที่สูงขึ้น
แบบสำรวจแมนูไลฟ์ เอเชีย แคร์ (Manulife Asia Care Survey) ประจำปี 2566 ชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนในเอเชียคาดว่าจะเกษียณในวัย 60 ปี โดยคาดว่าการเสื่อมถอยของสุขภาพจะเริ่มขึ้นในวัย 63 ปี หมายความว่าอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (health span) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพที่ดี ปราศจากความทุพพลภาพและโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับวัยชรา คาดว่าจะมีระยะเวลาเพียง 3 ปีหลังจากเกษียณ
เดเมียน กรีน ประธานและซีอีโอ แมนูไลฟ์ เอเชียกล่าวว่า คนเอเชียทำงานหนักมาทั้งชีวิต การวางแผนสุขภาพหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ความท้าทายที่คนเหล่านี้ต้องเจอก็คือการใช้จ่ายที่มีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับสุขภาวะทางกายภาพและจิตใจ บริการสุขภาพแบบจัดการด้วยตัวเอง (DIY healthcare) ได้รับความนิยม
ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อยืดอายุขัย โดยวิธีหลักจะเป็นการออกกำลังกาย ทานอาหารสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมฝึกสติอย่างโยคะและการฝึกสมองซึ่งช่วยในเรื่องของสุขภาพจิต
ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านสุขภาพทำให้ผู้คนหันไปพึ่งบริการสุขภาพแบบจัดการด้วยตัวเอง (DIY healthcare) ความต้องการของแอปพลิเคชันติดตามเฝ้าระวังทางสุขภาพมีสูงมาก ซึ่งมีสามประเภทที่เป็นที่นิยมมากคือ แอปติดตามการออกกำลัง การนอนหลับ และการควบคุมการบริโภคอาหาร
“อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือมีเพียงหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีแผนเกษียณพร้อมอยู่แล้ว เรายังพบว่ามีการพึ่งพาการออมเงินสดเป็นอย่างมาก ซึ่งจะถดถอยลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่มีภาวะเงินเฟ้อ เป็นเรื่องฉลาดที่จะใช้เครื่องมือการออมที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้นหรือเริ่มลงทุนและลงทุนต่อไป หรือทำทั้งสองอย่าง” กรีนกล่าว
นอกจากการวางแผนด้านสุขภาพแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังมีเป้าหมายทางการเงินส่วนบุคคล โดยยกการเก็บออมเงินสดและการฝากเงินในธนาคารเป็นวิธีหลัก ตามด้วยประกันส่วนบุคคลและในระดับภูมิภาค การสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งเป็นวิธีสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน
ผู้ตอบแบบสำรวจยกให้การเก็บออมเงินสดและการฝากเงินในธนาคาร (81%) เป็นวิธีหลักในการบรรลุเป้าหมาย ตามด้วยประกันส่วนบุคคล (59%) และในระดับภูมิภาค การสนับสนุนจากครอบครัว (42%) เป็นวิธีสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
“ดีกว่าถ้าจะปลอดภัยไว้ก่อน โดยเริ่มเก็บออมเร็วขึ้นและเป็นเวลานานขึ้น แล้วก็จะสามารถมีความสุขสงบสบายใจได้มากขึ้นและมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นในภายหลัง” กรีนกล่าว
ประกันที่มีดีมานด์สูงในเอเชีย
ประกันมีความนิยมสูงในเอเชียนั้น โดยเกือบสามในสี่ (70%) มีประกันสามประเภทโดยเฉลี่ย และ 79% ระบุว่าตั้งใจที่จะซื้อประกันภายใน 12 เดือนข้างหน้า ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (30%) ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ (26% สำหรับทั้งสองประเภทนี้) และประกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและประกันการเจ็บป่วยร้ายแรง (25% สำหรับทั้งสองประเภทนี้) เป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงสุด
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจ (70%) มั่นใจในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน โดยมีเพียง 14% ที่คาดว่าจะไม่สามารถทำได้ คนในฮ่องกง (57%) และสิงคโปร์ (52%) มีความมั่นใจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ อย่างเช่นจีน (81%) และอินโดนีเซีย (88%) ผู้ตอบแบบสำรวจเหล่านี้ ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 41 ปี ยังคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินออมวัยเกษียณภายในระยะเวลาอันค่อนข้างสั้น หนึ่งในสามเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณภายใน 5 ปี ขณะที่ราวหนึ่งในสาม 26% คาดว่าจะทำได้ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า
“เมื่อคำนึงว่าอายุคาดหวังโดยเฉลี่ยในภูมิภาคนี้อยู่ที่มากกว่า 75 ปี ประกอบกับอายุเกษียณที่คาดหวังอยู่ที่ 60 ปี เวลาที่คาดว่าจะต้องใช้ในการบรรลุความต้องการด้านเงินออมวัยเกษียณอาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง” กรีน กล่าว “ดีกว่าถ้าจะปลอดภัยไว้ก่อน โดยเริ่มเก็บออมเร็วขึ้นและเป็นเวลานานขึ้น แล้วก็จะสามารถมีความสุขสงบสบายใจได้มากขึ้นและมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นในภายหลัง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 66)
Tags: Manulife, ประกัน, ประกันสุขภาพ, วัยเกษียณ, เดเมียน กรีน, แมนูไลฟ์