จีนเผชิญหน้ากับความท้าทายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ยังคงรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้ได้ ในช่วงต้นปี 2566 เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากการปรับกลยุทธ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง โดยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีไว้ที่ประมาณ 5%
นายฝู หลิงฮุ่ย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่จีนยังต้องกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเสริมสร้างรากฐาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ดังนั้น เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับรองรับเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการ (RRR) เงินลง 0.25 จุดเปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ RRR สำหรับสถาบันการเงินของจีนจะลดลงสู่ระดับ 7.6%
นอกจากนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนได้ดำเนินนโยบายหลายอย่าง การระดมเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดต้นทุนด้านสาธารณูปโภคทุกภาคส่วนในตลาด รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน
รองศาสตราจารย์ ไป๋ หรางหราง จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟูตัน กล่าวว่า นอกจากจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลกแล้ว การส่งออกของจีนยังมีส่วนช่วยในการเติบโตของจีดีพีอย่างมาก ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดลงกับการลงทุนทางธุรกิจในปีที่แล้ว พร้อมกับระบุว่าปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้คือการที่จีนเปิดกว้างสู่ตลาดโลกมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 66)
Tags: จีน, รัฐบาลจีน, เศรษฐกิจจีน, เศรษฐกิจโลก