นักวิเคราะห์ชี้วิกฤตแบงก์ระลอกล่าสุดเกิดจากความเชื่อมั่นสั่นคลอน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เหตุการณ์ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ล้ม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2551 และการเข้าซื้อกิจการเครดิตสวิสแบบฉุกเฉินของยูบีเอส (UBS) ส่งผลให้ความวิตกกังวลแพร่กระจายแบบเป็นวงกว้างจนนำไปสู่การเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร

รายงานระบุว่า ธนาคารดอยซ์แบงก์ตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป หลังจากหุ้นดอยซ์แบงก์ร่วงลงและราคาในการประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้พุ่งขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ธนาคารจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งก็ตาม

ความตื่นตระหนกในตลาดดูเหมือนจะบรรเทาลงในวันนี้ (28 มี.ค.) หลังบริษัท เฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์แชร์ส (First Citizens BancShares) ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ในสหรัฐ หุ้นกลุ่มธนาคารของดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 3% ในวันจันทร์ แต่ยังคงลดลง 22.5% เมื่อเทียบในช่วงเดือนมี.ค. ขณะที่ในยุโรป หุ้นกลุ่มธนาคารของดัชนี STOXX 600 ปิดพุ่ง 1.7% ในวันจันทร์ แต่ลดลงมากกว่า 17% ในเดือนนี้

ความผันผวนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทำให้นักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่า ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวตามความเชื่อมั่นมากกว่าปัจจัยพื้นฐานหรือไม่ ในช่วงที่เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคารครั้งนี้

นางซาร่า เดเวโรซ์ หัวหน้ากลุ่มตราสารหนี้ระดับโลกขอแวนการด์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ยักษ์ใหญ่ กล่าวว่า “นี่ไม่เหมือนกับสถานการณ์การล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ซึ่งมีความเสี่ยงจากคู่สัญญาในตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อนในช่วงวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์”

“ธนาคารที่ตกเป็นกระแสข่าวในช่วงนี้ล้วนมีปัญหาเรื่องการจัดการความเสี่ยงด้านสินทรัพย์แบบดั้งเดิม โดยการที่ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทำให้สาธารณชนเห็นปัญหาเหล่านั้น ธนาคารกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรออกมาในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋วจนขาดทุน” นางเดเวโรซ์ระบุ

นางเดเวโรซ์เสริมว่า ธนาคาร SVB และเครดิต สวิสอาจยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในเวลานี้ หากธนาคารไม่สูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า ซึ่งเห็นได้จากการที่ลูกค้าของธนาคารทั้งสองแห่งแห่ถอนเงินฝากออกจำนวนมหาศาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นางเดเวโรซ์กล่าวว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นปัญหาด้านความเชื่อมั่นมากกว่าปัญหาเชิงระบบจริง ๆ เช่นที่เราเคยเห็นในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของแวนการ์ดเชื่อว่า จะสามารถควบคุมความเสียหายส่วนใหญ่จากวิกฤตครั้งนี้ได้ เนื่องจากหน่วยงานรัฐบาลกลางและธนาคารอื่น ๆ เข้าดำเนินการอย่างรวดเร็ว”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)

Tags: , , ,