นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันนี้เป็นวันแรก ถึงภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง ที่จะเร่งดำเนินการในปีนี้
ภารกิจที่ 1. การดูแลลูกค้าเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมาตรการพักหนี้ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้มีความเปราะบาง แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ (NPL) จะปรับลดลงมาเหลือ 8-9% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 12% ในช่วงปลายปีบัญชีที่ผ่านมา รวมถึงต้องติดตามลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ให้ดี เพราะว่าทุก 90 วัน ลูกหนี้กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะไหลเป็น NPL เพิ่มขึ้นได้
“นโยบายแก้หนี้ต้องทำทันที โดยสัปดาห์นี้ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการแก้หนี้และปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งกลุ่มหนี้เสีย และกลุ่ม SM ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่จะไหลมากระทบ คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ไตรมาส จึงจะเห็นผลในการแก้ไขคุณภาพหนี้ได้ระดับหนึ่ง ส่วนแนวทางการลด NPL ลง จะต้องมาตรวจสอบกันอีกทีว่าจะต้องจัดทำมาตรการอะไรบ้าง” นายฉัตรชัย กล่าว
ส่วนภารกิจที่ 2. การเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันลูกค้าธนาคารมีจำนวนมาก มีปริมาณการทำธุรกรรมสูง แต่สัดส่วนหนี้ต่อรายไม่ได้สูงมาก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว และช่วยลดต้นทุนด้วย
ภารกิจที่ 3. การบริหารเงินฝากให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีการใช้ประโยชน์จากสภาพคล่องส่วนเกิน บริหารงบดุลไม่ให้มีปัญหา และบริหารต้นทุนเงินฝากให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อไม่ให้ ธ.ก.ส. มีต้นทุนมากเกินความจำเป็น
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมจะใช้นโยบายพักหนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หากเป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นการดูแลเกษตรกรกลุ่มเปราะบางจริง ๆ แต่ถ้าเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหา และยังมีความวามารถในการชำระหนี้ ก็ต้องทำให้เห็นว่าการพักหนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ขณะที่เงินต้นไม่ลดลง ซึ่งสุดท้ายก็จะกลายเป็นหนี้เสียจริง ๆ
โดยเบื้องต้น อาจจะมีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น มีน้อยจ่าย-จ่ายน้อย มีมาก-จ่ายมาก เพื่อรักษาวินัยลูกหนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีสิทธิประโยชน์สำหรับลูกหนี้ที่ชำระดีด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 66)
Tags: ฉัตรชัย ศิริไล, ธ.ก.ส., ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, เกษตรกร