“เนทันยาฮู” สั่งปลดรมว.กลาโหมอิสราเอล จุดชนวนประชาชนลงถนนประท้วงเดือด

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล สั่งปลดนายโยอาฟ กัลแลนต์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมแล้วเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) หลังจากที่นายกัลแลนต์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูประบบตุลาการ เป็นเหตุให้ประชาชนออกมาประท้วงทั่วประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ฝ่ายที่คัดค้านกฎหมายดังกล่าวให้เหตุผลว่านี่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ หากทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจควบคุมตุลาการมากขึ้น

นายยาอีร์ ลาปิด และนายเบนนี แกนซ์ สองผู้นำฝ่ายค้าน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “เรื่องความมั่นคงของรัฐไม่อาจนำมาเล่นเป็นไพ่ในเกมการเมืองได้ เนทันยาฮูได้กระทำการล้ำเส้นในคืนนี้” พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกพรรคลิคุด (Likud) ของนายเนทันยาฮูไม่ให้มีส่วนร่วมใน “การบดขยี้ความมั่นคงของชาติ”

หลังถูกปลดได้ไม่นาน นายกัลแลนด์ออกมาโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า “ความมั่นคงของรัฐอิสราเอลเป็นภารกิจแห่งชีวิตของผมตลอดมาและตลอดไป”

ด้านผู้ประท้วงรวมตัวกันนอกที่พักของนายเนทันยาฮูในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ถูกตำรวจยิงปืนฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุม โดยฝูงชนกลุ่มที่ยังคงปักหลักได้ถูกตำรวจใช้กำลังพาตัวออกไป ทั้งนี้ ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการประท้วงจะส่งผลกระทบต่อยุทธวิธีของรัฐบาลหรือไม่

การปลดนายกัลแลนต์ยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคลิคุดและกลุ่มขวาจัดคลั่งศาสนา โดยฝ่ายนิติบัญญัติบางรายของพรรคลิคุดสนับสนุนให้นายเนทันยาฮูยุติการปฏิรูปศาล

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสหลายรายจากกระทรวงการคลังออกมาเตือนว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันรัฐบาลจากฝ่ายต่าง ๆ อีกด้วย โดยหัวหน้าสหพันธ์แรงงานฮิสตาดรุต (Histadrut) กล่าวว่าเขา “ประหลาดใจ” กับการสั่งปลดนายกัลแลนด์ และสัญญาว่าจะออกประกาศครั้งสำคัญในวันนี้

ส่วนกงสุลใหญ่ของอิสราเอลในนิวยอร์กได้ขอลาออกเพื่อประท้วงการสั่งปลดนายกัลแลนต์ ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยวิจัยหลายแห่งในอิสราเอลประกาศว่าตนจะหยุดจัดการเรียนการสอน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูประบบตุลาการโดยทันที

อนึ่ง วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลอิสราเอลพยายามผ่านร่างกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้นในการแต่งตั้งผู้พิพากษา โดยกฎหมายดังกล่าวคาดว่าจะได้รับการให้สัตยาบันในสัปดาห์นี้ในรัฐสภาอิสราเอล หรือ Knesset ซึ่งนายเนทันยาฮูและพันธมิตรครองเก้าอี้ 64 ที่นั่งจากทั้งหมด 120 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม คลื่นการประท้วงที่มีชนวนมาจากการปลดนายกัลแลนต์ ประกอบกับความแตกแยกร้าวลึกภายในรัฐบาลผสม ทำให้เกิดคำถามว่าการลงมติในกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,