เลือกตั้ง’66: ปชป.เดินหน้า “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ลุยอัดฉีด 1 ล้านลบ. หากเป็นรัฐบาล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจบางส่วน เพื่อหารือถึงนโยบายเพิ่มเติมในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสเป็นแกนตั้งรัฐบาล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม, ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต, นายเกียรติ สิทธีอมร, นายสามารถ ราชพลสิทธิ์, นางวทันยา บุนนาค, นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ, นายสรรเสริญ สมะลาภา และนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นต้น

นายจุรินทร์ ได้กล่าวถึงภาพรวมของการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนประเทศว่า พรรคจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” เป็นกรอบใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งจะมีเศรษฐกิจอนาคตรวมอยู่ด้วย

สำหรับเศรษฐกิจฐานราก จะได้มุ่งเน้นทั้งเรื่องการให้ความสำคัญกับการเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยว สำหรับเป็นพื้นฐานเรื่อง “สร้างเงิน” ให้ประเทศ โดยจะมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ ประมง SMEs หมู่บ้าน/ชุมชน และผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ส่วนเศรษฐกิจมหภาค จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายหลัก

ส่วนเศรษฐกิจทันสมัย รวมถึงเศรษฐกิจอนาคตนั้น จะได้เน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ควบคู่กันไป อาทิ Silver Economy ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ Renew Economy, Social Economy, Digital Economy เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นตรงกันว่า ในภาพรวมจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ถ้าพรรคมีโอกาสได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ส่วนนโยบายสำหรับกรุงเทพมหานคร นายจุรินทร์ ระบุว่า พรรคได้มีการแถลงนโยบายไปแล้วว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ และนโยบายกรุงเทพฯ จะมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นโยบายรวมของพรรค ส่วนที่ 2 นโยบายเฉพาะในส่วนทีมกรุงเทพฯ

โดยนโยบายรวมที่เกี่ยวพันกับคนกรุงเทพฯ เช่น การจัดตั้งธนาคารชุมชน 2,800 กว่าชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร ชุมชนละ 2 ล้านบาท รวมถึงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุดทั่วประเทศ โดย 1 แสนจุด จะเป็นของกรุงเทพฯ เพื่อให้อินเทอร์เน็ตมีส่วนในการขับเคลื่อน หรือใช้ประโยชน์ในการ “สร้างเงิน” ให้กับทั้งชาวกรุงเทพฯ และกลุ่ม SMEs ต่างๆ ในชุมชนของกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการใช้ประโยชน์สำหรับการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกชุมชน/หมู่บ้าน SMEs ต้องมีแต้มต่ออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท ปลดล็อค กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สามารถซื้อบ้านได้ สามารถลดหนี้ได้ในทันที และสามารถนำเงินที่จะต้องไปใช้หนี้นั้นไปสร้างเงินให้กับข้าราชการ และผู้ใช้แรงงานได้ รวมถึงนโยบายอื่นๆ เช่น นมโรงเรียนฟรี 365 วัน

ส่วนที่มาของงบประมาณในการดำเนินนโยบายนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้จะมีเงินแต่ละแหล่งของนโยบาย ทั้งในส่วนของงบประมาณแผ่นดิน และแหล่งเงินอื่นๆ ที่มีอยู่ในจุดต่างๆ ซึ่งพรรคได้ดูอย่างรอบคอบทั้งหมดแล้ว โดยมีหลักใหญ่ว่าจะไม่เน้นการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มโดยไม่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าจากผลสำรวจที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่อยู่ในอันดับต้นๆ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้า จะมีบัตร 2 ใบ คือบัตรเลือกผู้สมัคร และบัตรเลือกพรรค ซึ่งตนมั่นใจว่าสำหรับผู้สมัครของพรรคนั้น พรรคได้คัดคนที่มีคุณภาพ ศักยภาพที่ดีที่สุดยุคหนึ่ง ที่นำเสนอให้คนกรุงเทพฯ แล้ว ส่วนพรรคเอง ก็มั่นใจว่าเสียงตอบรับพรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนผลโพลนั้นก็อยู่ที่ว่าเป็นโพลจากสำนักไหน และอยู่ที่การสำรวจในแต่ละช่วงเวลา ขอไม่วิจารณ์ อย่างไรก็ดี พรรคมีความมั่นใจจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทุกเสียงได้สะท้อนมาในลักษณะใกล้เคียงกันว่า เสียงตอบรับพรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น

“เรามั่นใจของเราว่าเสียงตอบรับใน กทม. ดีขึ้นเป็นลำดับ และจะต้องทำงานหนักไปจนกระทั่งวันสุดท้ายที่สามารถจะหาเสียงได้ แต่ไม่ได้จบเท่านี้ หลังจากนั้นก็ยังต้องทำต่อไป เพราะประชาธิปัตย์ กับ กทม. ผูกพันกันมายาวนาน และยามทุกข์ยามสุขเราก็ไม่เคยทิ้งคนกรุงเทพฯ ตอนโควิด มีกี่พรรคก็นับนิ้วได้ที่ลงไปช่วยดูแลคนกรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ทำอย่างต่อเนื่อง” นายจุรินทร์กล่าว

ส่วนการจัดสรรผู้สมัครของพรรคทั่วประเทศนั้น ในเบื้องต้นได้จัดสรรไว้ครบ 400 เขตแล้ว และบัญชีรายชื่อก็ครบ 100 คนแล้ว เพียงแต่ต้องรอการทำไพรมารี ซึ่งพรรคจะทำ 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 มี.ค. เมื่อผลการทำไพรมารี 77 จังหวัดเรียบร้อย และเห็นชอบผู้สมัครเขตครบ 400 คน บัญชีรายชื่อครบ 100 คน ก็จะประกาศให้ทราบต่อไป ดังนั้นถือว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมแล้ว สำหรับการลงสนามการเลือกตั้งที่จะมาถึง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 66)

Tags: , ,