รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะชี้แจงสถานการณ์กรณีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในโรงงานหลอมโลหะ จังหวัดปราจีนบุรี ยืนยันยังไม่พบกัมมันตรังสีนอกโรงงาน จำลองกรณีแย่สุดรังสีก็ยังกระจายอยู่ภายในโรงงานเท่านั้น ขณะที่พนักงานในโรงงาน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบไม่พบกัมมันตรังสี ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยันผัก-ผลไม้ ไม่ปนเปื้อน แนะรับข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ในทุกมิติว่า ซีเซียม-137 สูญหายไปได้อย่างไร รวมถึงผลกระทบของประชาชน ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงาน และแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบกัมมันตรังสีในร่างกายของทั้งพนักงานในโรงงาน และประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบทั้งดิน น้ำ อากาศ ในระยะตั้งแต่ 5-10 กิโลเมตร จากโรงงาน ยังไม่ปรากฏกัมมันตรังสี ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ใช้เครื่องมือตรวจหารังสีในผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ ไม่พบรังสีเช่นกัน
“มีการแจกแถบวัดปริมาณรังสีให้ตัวแทนหมู่บ้านโดยรอบตรวจวัดรังสี โดยใช้เวลา 15-30 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับชาวบ้าน กรณีที่มีชาวบ้านปักธงขาวหน้าบ้าน เนื่องจากมีความกังวลเรื่องรังสี จึงเรียกร้องให้หมอตรวจสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้ชาวบ้านที่มีความประสงค์จะตรวจแล้ว ดังนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจ และเชิญชวนให้กลับมาท่องเที่ยว ซื้อผลิตภัณฑ์ของจังหวัดตามปกติ” นายรณรงค์ กล่าว
นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากการตรวจสุขภาพของพนักงานในโรงงานหลอมเหล็กที่มีความเสี่ยงทั้งหมด 71 ราย ผลการตรวจเลือดไม่พบกัมมันตรังสี ส่วนผลการตรวจปัสสาวะ เบื้องต้นผลออกมา 50% ไม่พบกัมมันตรังสี ส่วนอีก 50% ต้องรอติดตามผลต่อไป
ปัจจุบัน ตรวจพบรังสีเฉพาะในโรงงาน จากเตาหลอม ในห้องที่เก็บถุงบิ๊กแบ็ก และในถุงบิ๊กแบ็กเท่านั้น และจากการตรวจวัดปริมาณรังสีในพื้นที่โดยรอบโรงงาน ทั้งวง 3-5 กิโลเมตร และ 10-15 กิโลเมตร พบว่าระดับรังสีในธรรมชาติ หรือไม่มีการปนเปื้อนของรังสีในดิน น้ำ อากาศ อย่างไรก็ดี นายกฯ ได้สั่งการให้ติดตั้งจุดตรวจรังสีในสิ่งแวดล้อมเพิ่มอีก 9 จุด ในจังหวัดปราจีนบุรี และบริเวณใกล้เคียง
นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า สาขาวิชารังสี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า จากการคำนวณปริมาณรังสีในถุงบิ๊กแบ็ก ถ้ามีการสัมผัสโดยตรง ใช้เวลา 30 ชั่วโมง จะเท่ากับการเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง ดังนั้น ปริมาณรังสีมีน้อย และอยู่ในสภาวะที่หน่วยงานต่างๆ ควบคุมได้
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้สั่งการให้มีการดูแลอุปกรณ์รังสีที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่ง ปส. ได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่า อุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในสภาพที่ได้รับการดูแล และจัดเก็บครบถ้วน
“ปส. ได้มีการตรวจและรายงานรังสีแกมมาประจำวัน ขณะนี้รังสียังอยู่ในระดับปกติทั้งประเทศ และจากการประสานข้อมูลกับต่างประเทศ พบว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาปริมาณรังสีก็อยู่ในระดับปกติเช่นกัน นอกจากนี้ ปส. และสทน. ได้ลงพื้นที่ตรวจรังสีในผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดย 1. ตรวจผิวสัมผัสโดยตรง 2. ขูดผิวผัก ผลไม้ไปตรวจซึ่งจาก 120 ตัวอย่างไม่พบสารปนเปื้อน และ 3. นำไปตรวจโดยใช้เครื่องมือที่มีความไวสูง ใช้เวลา 2-3 วันในการรายงานผล” นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
นายพงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ โดยใช้หลักวิชาการและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณ จำลองถึงกรณีที่แย่ที่สุดที่รังสีจะแพร่กระจาย พบว่า ปริมาณรังสีจะกระจายอยู่ภายในพื้นที่โรงงานเท่านั้น ส่วนบริเวณรอบๆ โรงงาน รังสีจะมีการกระจายตัวในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปริมาณรังสีในธรรมชาติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 66)
Tags: กัมมันตรังสี, ซีเซียม-137, ปราจีนบุรี, พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์, รณรงค์ นครจินดา, วัสดุกัมมันตรังสี, สารกัมมันตรังสี, อนุชา บูรพชัยศรี