นายเอ็ดดี้ หยู ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกงเปิดเผยในวันนี้ (24 มี.ค.) ว่า ฮ่องกงจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐนั้นจะลุกลามบานปลายหรือไม่ แม้ว่าภาคธนาคารของฮ่องกงแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรปก็ตาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ของสหรัฐ รวมทั้งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรงต่อระบบธนาคารทั่วโลก
ทั้งนี้ นายหยูกล่าวว่า ฮ่องกงมีการลงทุนที่น้อยมากในตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วเอเชียกำลังหาแนวทางที่จะบรรเทาความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถือครองตราสาร AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส หลังจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ตามข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส
“วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปเมื่อเร็วนี้ ๆ แทบจะไม่มีผลกระทบกับฮ่องกง และเรามองว่าสถานการณ์ในขณะนี้เริ่มมีเสถียรภาพ แต่ฮ่องกงก็ยังจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินว่าวิกฤตการณ์นั้นจะลุกลามบานปลายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ” นายหยูกล่าว
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ธนาคารในฮ่องกงและทั่วโลกจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ยูบีเอสได้เข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ตราสาร AT1 ของเครดิต สวิสซึ่งระบุมูลค่าหน้าตั๋วไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกตัดมูลค่าลงเหลือศูนย์ นอกจากนี้ ข้อตกลงยังกำหนดว่า ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิ์ในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีธนาคารล้มละลาย
โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์จะมีตราสาร AT1 ในอัตราส่วนสูงกว่าหุ้นสามัญ และหากธนาคารประสบปัญหา กลุ่มผู้ถือตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่นักลงทุนต้องการเงินคืน แต่การที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ จะส่งผลให้กลุ่มผู้ถือ AT1 ได้รับความเสียหายอย่างมาก
กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 66)
Tags: ธนาคารกลางฮ่องกง, ฮ่องกง, เอ็ดดี้ หยู