เงินบาทเปิด 34.09 แนวโน้มแข็งค่าตามภูมิภาค ให้กรอบวันนี้ 33.90-34.25

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.09 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดช่วงเย็นงานนี้ ขณะที่เงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะใกล้ยุติแล้ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน แต่ยังมีความไม่แน่นอนเพราะต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าไม่เกิดภาวะชะลอตัวรุนแรง

“บาททรงตัวเท่าระดับปิดตลาดเย็นวานนี้ แต่มีโอกาสหลุด 34 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าตามภูมิภาคที่นำโดยเงินวอนและเงินหยวน”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.90 – 34.25 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (23 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.44591% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.64637%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 130.65 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 131.17 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0831 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0882 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.118 บาท/ดอลลาร์
  • ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน ของ Airbnb เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ในไทยเดือนเมษายนนี้ ได้เห็นการฟื้นตัวครั้งสำคัญของการท่องเที่ยวอินบาวด์จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกบน Airbnb เพิ่มสูงขึ้นกว่า 310% จากปีก่อน ที่ถูกค้นหาที่พัก โดยกรุงเทพฯเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมค้นหามากที่สุด ตามด้วยพัทยา เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต
  • ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถดถอยลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 65 กระทบต่อการค้าโลกตั้งแต่กลางปี 65 เช่นกัน โดยทำให้มูลค่าการค้าโลกปี 65 อยู่ที่ 32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการค้าสินค้า 25 ล้านล้านเหรียญฯ เพิ่ม 10% จากปี 64 และการค้าสินค้าบริการ 7 ล้านล้านเหรียญฯ เพิ่ม 15% กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนัก เพราะทำให้การนำเข้าและส่งออก ลดลงถึง 6% เทียบปี 64 โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่การส่งออกลดลงถึง 7% และยังคาดว่าช่วงครึ่งแรกปี 66 การค้าโลกยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 7-2 ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในการประชุมเมื่อคืนนี้ ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ BoE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน หลังจากเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 10.4% ในเดือนก.พ. แทนที่จะปรับตัวลงตามที่มีการคาดการณ์ไว้
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 191,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ราย
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยดอลลาร์ฟื้นตัวในช่วงท้ายตลาด หลังจากที่อ่อนค่าลงในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย
  • เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐออกรายงานระบุว่า ธนาคารสหรัฐซึ่งอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่สุดได้เผชิญการไหลออกของเงินฝากสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปริมาณเงินฝากที่ไหลออกราว 5 แสนล้านดอลลาร์เกิดขึ้นในเดือนนี้ หลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) อย่างไรก็ดี รายงานไม่ได้ระบุว่าธนาคารแห่งใดอยู่ในกลุ่มเปราะบางดังกล่าว และมีจำนวนเท่าใด
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาทอง พร้อมกับระบุว่า ทองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน โดยคาดว่าราคาทองจะพุ่งแตะระดับ 2,050 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1,950 ดอลลาร์
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐวันนี้ จะมีการรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. จากนั้น เอสแอนด์พี โกลบอล จะรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-บริการขั้นต้นเดือนมี.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 66)

         

Tags: ,