นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งบริหารภายใต้บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่ง BA ถือหุ้นสัดส่วน 45% ว่า บริษัทเตรียมขอปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่มีทั้งหมด 4 เฟส เป็น 6 เฟส หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด ทำให้แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไป โดยอยู่ระหว่างรอเข้าหารือกับนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) หรือ EEC คนใหม่เข้าทำงานอย่างเป็นทางการ
ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากหลังเกิดโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินถอยไปราว 25 ปี จำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ก็ไม่ได้เป็นเช่นเดิม การปรับการลงทุนเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ โดยบริษัทจะขอปรับการลงทุนเฟสแรกรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคน จากเดิม 15 ล้านคน และเฟสสองอาจจะเป็น 12 หรือ 14 ล้านคน โดยลดการก่อสร้างช่วงแรก ลดพื้นที่อาคารผู้โดยสาร เพราะหากลงทุนขนาดใหญ่กว่าตลาดก็ทำให้การลงทุนเสียไป อย่างไรก็ดี ทั้งโครงการ UTA ก็ยังคงดำเนินโครงการรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนตามเดิม ภายใต้สัมปทานอายุ 50 ปี
“ดีมานด์ตอนนี้ลงไป ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทย แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก … เราคิดว่าจะทำน้อยกว่า 12 ล้านคน แต่ก็ต้องคุยกัน คือเราไม่ได้เกเร ปลายทางยัง 60 ล้านคนเหมือนเดิม เพียงช่วงแรกช่วยหน่อย เพราะดีมานด์ตามไม่ทัน มันก็ waste พื้นที่สร้างมาใหญ่ๆแต่ทำมาหากินไม่ได้ “
โดยโครงสร้างพื้นฐานอาคารผู้โดยสารก็ต้องสร้างเตรียมไว้ก่อน หากเมื่อจะขยายเฟสต่อไป ก็จะทำได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้วงเงินลงทุนในเฟสแรกไม่ได้ปรับลดมากนัก หรือลดลงไปประมาณ 30% เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ดี หากดีมานด์การเดินทางกลับมาเร็ว UTA ก็สามารถเร่งมือทำเฟสต่อไปได้โดยเงื่อนไขว่าเฟสเดิมมีผู้โดยสาร 80% ของจำนวนที่รองรับได้เต็ม บริษัทจะดำเนินการเฟสใหม่ต่อไป เพื่อให้ทันกับดีมานด์
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ UTA ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ที่ผ่านมาเป็นเพียงงานออกแบบ และการเตรียมตัวเพื่อเข้าก่อสร้าง ซึ่ง UTA ได้ลงเงินไปแล้ว 4.5 พันล้านบาทโดย BA ลงไปแล้ว 2.2 พันล้านบาท
โดยบริษัทอยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) จากเดิมฝ่ายรัฐกำหนดว่าจะออกให้ในเดือนม.ค. 66 เนื่องจากว่ามีเงื่อนไขที่ฝ่ายรัฐระบุในสัญญาว่า ต้องมีความชัดเจนการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ซึ่งกองทัพเรือเปิดประมูลก็ถือว่าได้ตามเงื่อนไขแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ทางกองทัพเรือยังไม่ได้เริ่มประมูล เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณ
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และรันเวย์ที่ 2 ก็ต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ที่ดำเนินการโดย EEC และ กองทัพเรือ
และเรื่องการตกลงเรื่องการเดินรถกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องมีตารางเดินรถสอดคล้องกับสนามบินอู่ตะเภาเพื่อให้ความสะดวกกับผู้โดยสาร โดยได้มีการหารือในชั้นคณะทำงาน
รวมถึงข้อตกลงการใช้งานสนามบินกับรันเวย์ ร่วมกับกองทัพเรือ ซึ่งข้อนี้ บริษัทได้ทำความตกลงกับกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น UTA รอเงื่อนไข 3 ข้อให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงจะสามารถได้หนังสือ NTP เริ่มก่อสร้างได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 ปี
ทั้งนี้ UTA ประกอบด้วย BA , บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)
Tags: BA, UTA, การบินกรุงเทพ, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, สนามบินอู่ตะเภา, อู่ตะเภา