คุณภาพอากาศไทยปี 65 แย่ติดอันดับ 5 ในเอเชียตอ.เฉียงใต้ และอันดับ 57 ของโลก

IQAir รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 65 ระบุว่า คุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก

ทั้งนี้ รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 65 ของ IQAir ฉบับที่ 5 จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM 2.5 จาก 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศและภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลมาจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินกว่า 30,000 แห่งทั่วโลก และใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นค่าพื้นฐานในการนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ

สำหรับข้อค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย มีดังนี้

– ในปี 65 พบว่า 7 จาก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 ลดลง มีเพียงลาว และเวียดนามเท่านั้น ที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64

– อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 30.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ ลาว 27.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 27.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

– กัมพูชา เป็นประเทศที่มีความเข้มข้น PM 2.5 น้อยสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปี 64 ที่ 58%

– มีเพียง 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ที่ผ่านหลักเกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศ PM 2.5 ฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 64 ของ WHO

– ไทยและอินโดนีเซีย มีจำนวนเมือง/อำเภอ ที่มีมลพิษมากที่สุด จากทั้งหมด 15 อันดับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยมี 7 อำเภอที่มีมลพิษสูง คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อ.เมืองน่าน จ.น่าน, อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, คลองตาคต จ.ราชบุรี, ท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา, ดอนหัน จ.ขอนแก่น และยางซ้าย จ.สุโขทัย ส่วนอินโดนีเซีย มี 5 เมือง คือ ปาซาร์เคมิส, ชีเลงเซีย, จาการ์ตา, เบกาซี และสุราบายา ตามลำดับ

– ความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยของไทยปี 65 อยู่ที่ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าปี 64 ที่ 10.4%

– กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ดี แม้ปี 65 ไทยมีคุณภาพอากาศดีขึ้นเมื่อเทียบปี 64 เนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ความชื้นสูงและพายุอันเนื่องมาจากปรากฎการณ์ลานีญา แต่มาตรการของรัฐบาล ยังห่างไกลจากการต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รากเหง้าอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเห็นได้จากความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 โดยรวมของประเทศยังสูงกว่าค่าแนะนำของ WHO

ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดหลัก (Emission Standard) และการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ที่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและป้องกันสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ได้

น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษ PM 2.5 จากปลายปล่องและจากแหล่งกำเนิดหลัก (Emission Standard) และออกกฎหมาย PRTR ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5 ตลอดจนติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิต และการลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง

น.ส.อัลลิยา กล่าวว่า ประชาชนในภาคเหนือของไทย มีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ของทุกปี ข้อมูลในรายงานของกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทย และการขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทย เพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษข้ามพรมแดน ที่มีความเชื่อมโยงกับวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือ

ด้าน น.ส.รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ยังขาดหายไป คือกลไกทางกฎหมาย และการกำหนดนโยบายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนเป็นภารกิจที่เร่งด่วน ที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์ และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบาย เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสุขภาพ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และปกป้องสุขภาพของประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,