นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เปิดเผยว่า ปี 66 ถือเป็นปีที่ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น เพราะความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้น้อยลงไปมา การเปิดเมือง และเปิดประเทศกลับมาเป็นปกติ ไม่มีมาตรการควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆกลับมา นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของบริษัทในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการฟื้นตัวขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น พัทยา ภูเก็ต สมุย ที่ยอดขายเติยโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 70%
บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 66 เติบโต 30% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท โดยที่กลยุทธ์การเติบโตในปีนี้บริษัทจะกลับมาเดินหน้าขยายสาขาอีกครั้ง ทั้งการขยายสาขาเอง และการขยายสาขาผ่านเฟรนไชส์ หลังจากช่วงโควิด-19 ได้ชะลอการขยายสาขาไป ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งหมด 345 สาขา แบ่งเป็น ZEN ที่บริหารเอง 155 สาขา ส่วนสาขาเฟรนไชส์ ในประเทศ 181 สาขาและต่างประเทศ 9 สาขา วางงบลงทุนปีนี้ 350 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ขยายสาขาใหม่ 300 ล้านบาท และปรับปรุงสาขาเดิม 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าในการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะการเข้ามานั่งทานในร้าน บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ในปีนี้ 5% วางงบการตลาดราว 100 ล้านบาท พร้อมปรับรูปแบบบางร้านเพื่อเพิ่มยอดขายต่อหัว (Spending per bill) ให้สูงขึ้น โดยจะปรับรูปแบบของบาร์น้ำในร้าน On The Table เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายในร้าน On The Table เริ่มจากสาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากนั้นจะค่อย ๆ ทยอยปรับสาขาอื่นตามมา
นอกจากนี้ บริษัทยังหันมามุ่งเน้นการขายแบบ B2B เข้ามาเสริม โดยเฉพาะการทำ Catering จัดอาหารเพื่อรองรับการประชุม สัมมนา และงานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาใช้บริการ และตอบรับเทรนด์ของการกลับมาจัดงานต่างๆ หลังโควิด-19 สิ้นสุดลง
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก หลังจากเข้าร่วมทุนใน บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด (ZKC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลาร้า น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริก และ เครื่องปรุงรสต่างๆ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งในประเทศและต่างประเทศ โดย ZKC มีแผนขยายการผลิตเครื่องปรุงรสสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่น และอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น
และอีกบริษัทที่เข้าไปร่วมทุน คือ King Marine (KMF) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเล ส่วนใหญ่เป็นปลาแซลมอน หลังจากนี้จะเพิ่มนำเข้าเนื้อสัตว์จากประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น เนื้อวัวออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายให้กับร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี
นายบุญยง กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ (M&A) นั้นจะต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ยังมีโอกาสหากเห็นธุรกิจที่มีศักยภาพดีที่จะเข้ามาเสริมสักยภาพให้กับกลุ่มได้ แต่คาดว่าในช่วง 2 ปีจากนี้จะเน้นการเติบโตจากธุรกิจที่มีอยู่ก่อน และยังเปิดรับพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมกับ ZEN สร้างการเติบโต ส่วนที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) สนใจเข้ามาถือหุ้นใน ZEN นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเจรจาและพูดคุยกับทาง OR แต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)
Tags: ZEN, บุญยง ตันสกุล, ผลการดำเนินงาน, หุ้นไทย, เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป