นักวิชาการ ชี้พ่นละอองน้ำลดฝุ่น PM2.5 ไม่เห็นผลต่าง-ไม่คุ้ม จี้ต้องแก้ต้นตอ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยข้อค้นพบจากนักสืบฝุ่น ในประเด็นต้นตอที่แท้จริงของการเกิดฝุ่นในกรุงเทพฯ และการล้างถนนและฉีดพ่นน้ำสามารถลดฝุ่นได้หรือไม่ โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม พร้อมเปิดเผยเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของ กทม. ที่ผ่านมา และทิศทางต่อไปในการขับเคลื่อนตามแผนวาระแห่งชาติ ณ โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา

สถานการณ์ฝุ่น และต้นตอฝุ่นมาจากไหน

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงต้นตอฝุ่นในช่วงนี้ว่า มาจากการเผาไหม้ชีวมวลจากภายนอกและลอยเข้ามาในกทม. เพราะในช่วงเวลานี้อากาศไม่นิ่ง จึงมีฝุ่นลอยเข้ามาในช่วงประมาณกลางวันและจมตัวลงในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ บวกกับฝุ่นที่มีในกทม. ซึ่งมาจากการจราจร ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้นไปสูงมาก

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกจะต้องลดลง เดิมใช้มาตรการห้ามเผาแต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาได้ช่วงอื่น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่า จะใช้วิธีการห้ามเผา หรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน เช่น การกำหนดช่วงเวลาที่เผาได้และช่วงเวลาที่ห้ามเผา ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุดที่ให้ประชาชนอยู่ได้ ในขณะเดียวกัน ฝุ่นก็ต้องไม่กระทบในภาพรวมด้วย

ส่วนเรื่องมาตรการการเก็บภาษี เป็นเรื่องที่พยายามคุยกัน แต่ในเชิงของทางด้านเศรษฐศาสตร์มีขั้นตอนในการทำมาตรฐานที่จะนำเรื่องของการเผาเข้าไปคิด ที่ทำได้ง่ายคือเรื่องของการเผาอ้อย ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนเกี่ยวกับการไม่รับซื้ออ้อยที่มาจากการเผา โดยสามารถทำได้และช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้

ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาความพยายามของประเทศไทยโดยหน่วยงานรัฐ จะเห็นได้ว่าดีขึ้นมากจากฮอตสปอตที่เกิดขึ้น แต่ฮอตสปอตนอกประเทศไทยอยู่นอกเหนือการควบคุมที่จะสามารถเข้าไปจัดการได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียน และหลายองค์กรร่วมมือกัน ทั้งนี้ อาจบังคับไม่ได้ แต่ต้องมีมาตรการจูงใจ ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไร

การฉีดพ่นละอองน้ำ และการล้างถนน ช่วยลดฝุ่นหรือไม่?

รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (AIT) กล่าวว่า จากการที่ได้ทดลองฉีดพ่นละอองน้ำ ที่โรงเรียนวิชูทิศ พบว่า มีผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ถ้าเทียบกับปริมาณน้ำและค่าไฟฟ้าที่เสียไป โดยพบว่าค่าเฉลี่ยในชั่วโมงระหว่างที่เปิดสเปรย์น้ำ กับไม่เปิดน้ำ ค่าฝุ่นต่างกันแค่ประมาณ 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วงปกติค่าผันผวนของปริมาณฝุ่นจะอยู่ที่ 3-4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามีผลแตกต่าง

ดังนั้น ถ้าเทียบกับความคุ้มแล้วจึงคิดว่าไม่คุ้ม พร้อมย้ำว่าหลักการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีความชัดเจนว่า จะต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิดฝุ่น ซึ่งในกทม. หลักๆ มาจากรถยนต์ ส่วนข้างนอกมาจากการเผา และอาจจะมีมาจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ ด้วย ในส่วนของการฉีดน้ำเป็นการจัดการที่ปลายทาง ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่คุ้มค่า

รศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการวิจัยที่บอกที่มาแหล่งกำเนิดของฝุ่น โดยมีการใช้เครื่องมือหลายตัว มีการทำบัญชีการระบายมลพิษ เพื่อบอกว่าฝุ่นในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง มาจากแหล่งใดบ้าง รวมไปถึงการทำ chemical composition เพื่อดูว่าในฝุ่นมีองค์ประกอบทางเคมีอะไรบ้าง และใส่เข้าไปในโมเดลเพื่อทราบว่าฝุ่นที่ลอยเข้ามา และฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ มีต้นตอมาจากอะไร

อย่างไรก็ดี ขณะนี้เหลือเพียงว่า จะนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงๆ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รวบรวมเครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้ มาสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติซึ่งจะเป็นการวิจัยในตัวถัดไป

ฝากรัฐบาลใหม่ผลักดันแก้ปัญหา

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนของกทม. ได้พยายามทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การตรวจต้นตอฝุ่นและคุมเข้ม ป้องกันสุขภาพ แจ้งเตือนประชาชน และมีการเปิดคลินิกฝุ่น เพื่อให้บริการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยมีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับองค์ประกอบฝุ่นใน กทม. จาก 90 มคก./ลบ.ม. พบว่า 30 มคก./ลบ.ม. แรก มาจากการจราจร, 30 มคก./ลบ.ม. ต่อมา มาจากสภาพอากาศ และ 30 มคก./ลบ.ม. สุดท้ายมาจากการเผาชีวมวล

อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดสำคัญมาจากการจราจรและยานพาหนะ อยู่ในส่วนของ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแรก เป็นเรื่องที่กทม. ทำโดยลำพังไม่ได้ จะต้องมีภาคีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแผนวาระแห่งชาติการจัดการมลพิษทางอากาศ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทม. พร้อมที่จะประสานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

ในส่วนของนโยบายนักสืบฝุ่นที่กทม. ได้ริเริ่มไว้ หากจังหวัดอื่นประสงค์จะรับไปทำก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะทุกอย่างที่ทำต้องอ้างอิงจากข้อมูล ปัจจุบันมีข้อมูลที่สามารถจะนำไปวิเคราะห์หรือนำไปใช้ต่อ ซึ่งมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฉีดน้ำ และแหล่งกำเนิดของฝุ่น การจัดการเรื่องยานพาหนะ ควันดำ การจัดการการเผาชีวมวลต้องทำทั้งปีไม่ใช่เฉพาะช่วงหน้าฝุ่น

ทั้งนี้ กทม. ฝากถึงรัฐบาลถัดไป ในการให้ความสำคัญกับแผนจัดการฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งต้องเน้นในประเด็นต่างๆ อาทิ เน้นเรื่องภาคการเกษตร (การเผาชีวมวล) การจราจร การพิจารณาพื้นที่ Low Emission Zone การย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นต้น

“ขณะนี้ทางพรรคการเมืองต่างๆ ได้เปิดนโยบายเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทางสื่อสาธารณะอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะสอดคล้องกับที่กทม. เสนอ 2-3 เรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ จึงได้ฝากไปถึงรัฐบาลชุดหน้าในการเข้ามาผลักดัน” นายพรพรหม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,