นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ในปี 66 ยังเป็นปีที่เผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 63 ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0% และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาลเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เพราะในขณะนั้นทุกคนต่างกังวลว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะเกิด Great Depression ครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี ทำให้ต้องเร่งออกมาตรการเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นต้นตอของปัญหาที่ตามมาถึงปัจจุบัน
หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง เฟดหันมาปรับทิศทางนโยบายด้วยการเร่งดึงสภาพคล่องออกจากระบบ และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้เกิดวิกฤตการล้มของ Silicon Valley Bank (SVB) ของสหรัฐ ตามติดมาด้วย Signature Bank และ First Republic Bank เนื่องจากขาดสภาพคล่อง สร้างความวิตกกังวลให้กับคนทั่วโลก โดยชาวอเมริกาแห่ออกมาถอนเงิน จากความไม่มั่นใจ และมีโอกาสลุกลามเป็นลูกโซ่
ผลพวงมาจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดอกเบี้ยในสหรัฐถือว่าปรับเพิ่มขึ้นเร็วในช่วงเวลา 1 ปี ขึ้นมาแล้วกว่า 4% และยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไปอีกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายของเฟด ทำให้เกิดปัญหาตามมา และสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นที่ดัชนีทั่วโลกดิ่งลงอย่างมาก รวมถึงตลาดหุ้นไทยวานนี้ร่วงไปเกือบ 50 จุด แม้ว่าจะไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงก็ตาม อย่างไรก็ตาม วันนี้เห็นการรีบาวด์กลับมาเกือบเท่ากับที่ลงไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มทำความเข้าใจในสถานการณ์ได้ดีขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าภาพความผันผวนในปีนี้จะยังมีอยู่
“เฟดได้สร้างลูกโป่งไว้ตั้งแต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และก็สร้างลูกโป่งที่สำคัญที่พองโตขึ้น คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญที่เฟดจะต้องกดลงมา โดยการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดปัญหาเกิดขึ้น แต่เฟดก็มีแนวทางออกมาเพื่อดามปิดโอกาสเกิดปัญหาเป็นโดมิโน่ไว้ จากที่เห็นเมื่อวันอาทิตย์ที่เฟดประกาศออกมารับประกันเงินฝาก 100% และรับซื้อพันธบัตร เพราะเขายังต้องจัดการกับเงินเฟ้อต่อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการค่อยๆเจาะลูกโป่งทีละลูก หลังจากเจาะลูกโป่งคริปโต หุ้น และอสังหาฯ” นายกอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐจะยังคงเห็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเมื่อคืนนี้รายงานออกมาตามที่ตลาดคาดซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่หากมาดูเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นค่าจ้างของภาคบริการยังปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ถือเป็นปัจจัยที่เฟดต้องเข้าไปจัดการ เพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาตามเป้าหมาย ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐยังคงมีความจำเป็น และคาดว่าในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้าจะยังคงเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีก และจะขึ้นต่อเนื่องในการประชุมรอบต่อไป ถือว่าสวนทางกับตลาดที่เริ่มมองว่าเฟดจะผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังจากเกิดวิกฤติแบงก์ ทำให้อาจจะเห็นความผันผวนเกิดขึ้นได้อีกรอบ
นอกจากนี้ อีกแนวทางหนึ่งที่เฟดอาจจะต้องนำมาใช้เพื่อกดเงินเฟ้อ หลังจากตลาดแรงงงานของสหรัฐยังมีความร้อนแรง ทำให้เงินเฟ้อที่สูงไม่จบง่ายๆ สิ่งที่จะสามารถจัดการได้คือการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อจากไป และเป็นการ Reset ทุกอย่าง ดังนั้นคาดว่าเฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยในปี 68 หลังจากบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดดอกเบี้ยมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ
“อเมริกายังคงเสี่ยงที่จะเกิด Recession เพราะตลาดแรงงานที่ร้อนแรงยังไม่จบง่าย ทำให้เงินเฟ้อที่สูงไม่จบ เฟดจะต้องเผชิญ Recession เข้ามาจัดการให้เงินเฟ้อจากไป และ Reset ทุกอย่าง ก่อนกลับนโยบายมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่อาจจะเห็นอีกครั้งในปี 68 ทำให้ระหว่างทางเราอาจจะยังเห็นวิกฤตอื่นๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จากผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด และยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง” นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายจากภาคการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวลงลงมาต่อเนื่อง จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเริ่มชะลอตัวลง ทำให้เครื่องยนต์หลักของไทย คือ ภาคการส่งออกเริ่มผ่อนแรงลงมา แต่ในปีนี้มีอีกเครื่องยนต์ที่สำคัญคือภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเอาไว้ ทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากจีนประกาศเปิดประเทศเร็วกว่าคาด ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความโดดเด่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมาก
ด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งมาอยู่ในระดับ 2-2.5% คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายรอบนี้ในช่วงเดือนพ.ค. 66 ซึ่งถือว่ายังเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถไปต่อได้ หากดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% จากจุดต่ำสุด และทิศทางเงินเฟ้อของไทยคาดว่าในไตรมาส 3/66 จะเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 3%
ส่วนประเด็นการพิจารณานำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมานั้น ยังคงต้องรอพิจารณาร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงการหารือกับภาครัฐในการสนับสนุนมาตรการสิทธิพิเศษ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในการสนับสนุนการออมผ่านการลงทุนในระยะยาวให้กับประชาชน และผลักดันการเติบโตของตลาดทุนไทย โดยปัจจุบันยังมีกองทุน SSF ที่ยังมีการสนับสนุนการลดหย่อนภาษีไปถึงปี 67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 66)
Tags: BBL, FETCO, กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ขึ้นดอกเบี้ย, ธนาคารกรุงเทพ, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, เศรษฐกิจสหรัฐ